วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

อารยธรรมตะวันออกโบราณ : อารยธรรมอินเดีย

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
            คำว่า “อินเดีย” เดิมเป็นภาษาสันสกฤต เรียกว่า สินธุ (Shidhu) ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียโบราณ แม่น้ำสินธุนี้ชาวเปอร์เซียเรียกว่า ฮินดู (Hindu) หมายถึง คนที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุและคงคาด้วย ส่วนอาณาจักรที่ตั้งอยู่บริเวณนี้เรียกว่า “ฮินดูสถาน” ต่อมาเมื่อชาวกรีกเข้ามา ชาวกรีกเรียกพวกนี้ว่า “อินโดส” (Indos) และได้เปลี่ยนเป็นอินดัส (Indus) และเป็นอินเดีย (India) ในที่สุด แต่ชาวอินเดียนิยมเรียกประเทศของตนว่า “ภารตวรรษ” ซึ่งหมายถึงดินแดนที่เป็นที่อยู่ของชาวภารตะ คำว่า ภรตะ เป็นคำเรียกของพระมหากษัตริย์ต้นวงศ์เการพและปาณฑพ ที่ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมในมหากาพย์ภารตยุทธ์
            จากหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏให้เห็นว่า อินเดียมีความเจริญมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยหินเก่าและสมัยหินใหม่ โดยเฉพาะในบริเวณเนินเขาในบาลูจิสถานตอนใต้ ต่อมาอารยธรรมเมืองที่มีความเจริญมากได้ปรากฏในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยเราเรียกอารยธรรมนี้ว่า “อารยธรรมลุ่มมน้ำสินธุ” (Indus Civilization)
            อารยธรรมโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุในช่วงประมาณ 4,000-2,500 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการสำรวจขุดค้นตามโบราณสถานของอินเดียหลายแห่ง มีเซอร์จอห์น มาร์แชล (Sir John Marshall) นักโบราณคดีขาวอังกฤษเป็นหัวหน้าคณะในการสำรวจและได้ขุดพบเมืองโบราณที่เมืองฮารัปปา (Harappa) ในแคว้นปัญจาบตะวันตก และที่เมืองโมเฮนจาดาโร (Mohenja-Daro) ในแถบแคว้นซินด์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน เมืองทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ 350 ไมล์และเมืองโบราณทั้งสองเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ คือ พวกดราวิเดียน ซึ่งเป็นพวกพื้นเมืองของอินเดีย พวกดราวิเดียนหรือมิลักขะหรือทราวิท (Dravidian) มีลักษณะทางกายภาพคือ มีสีผิวดำ ผมหยิก จมูกกว้าง
            จากซากเมืองโบราณและโบราณวัตถุที่ขุดพบทำให้เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของอารยธรรมสินธุว่า จัดเป็นอารยธรรมแบบเมือง (Urban Civilization) เกิดขึ้นเมื่อพวกดราวิเดียนได้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ จุดเด่นของอารยธรรมสินธุอยู่ที่การก่อสร้างและการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ เป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความสามารถของพวกดราวิเดียน
            สิ่งก่อสร้างที่ขุดพบในเมืองฮารัปปาและเมืองโมเฮนจาดาโร มีการแบ่งเขตภายในเมืองออกเป็นสัดส่วน จัดเป็นที่ตั้งอาคารสำคัญๆ ไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ เช่น อาคารทางศาสนา อาคารเพื่อสาธารณประโยชน์และอาคารบ้านเรือน โดยอารยธรรมสินธุมีการก่อสร้างอาคารที่มีรากฐานแข็งแรง สร้างด้วยอิฐโบกปูน สิ่งก่อสร้างที่เป็นบ้านพักอาศัยสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีหน้าต่างเจาะและมีห้องที่ประตูออกสู่ลานหน้าบ้าน ลักษณะของบ้านจะเป็นบ้านแบบเรียบไม่มีการตกแต่ง แต่เน้นเรื่องความสะดวกสบาย จุดเด่นของบ้านในยุคนี้คือ ทุกบ้านสร้างบ่อน้ำ มีห้องน้ำซึ่งมีท่อน้ำและท่อระบายน้ำโสโครกออกไปนอกบ้านเชื่อมกับท่อระบายน้ำในถนน โดยถนนจะสร้างขนาดกว้างและสร้างด้วยอิฐอย่างแข็งแรง ถนนทุกสายเป็นถนนตัดตรงไม่คดเคี้ยว ถนนสายสำคัญมีความกว้างวัดได้ถึง 33 ฟุต แสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้ออกแบบสร้างเมืองที่มีการวางผังเมืองเป็นอย่างดี ริมถนนมีท่อระบายน้ำโสโครกขนาดใหญ่ ตามมุมถนนมีถังสำหรับทิ้งขยะ นอกจากนี้ มีการสร้างบ่อน้ำสาธารณะก่อด้วยอิฐขนาด 39 X 23 ฟุต และมียุ้งฉางสาธารณะขนาดใหญ่สำหรับเก็บผลผลิต
            ประชากรที่อาสัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำสินธุส่วนใหญ่มีอาชีพทำกสิกรรม เลี้ยงสัตว์และการผลิตเครื่องใช้ โดยนิยมปลูกพืช เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี หมาก อินทผลัม และเลี้ยงสัตว์ไว้สำหรับบริโภค เช่น แกะ หมู ปลา ไก่ สัตว์ที่นิยมเลี้ยงไว้ใช้งาน เช่น วัว ควาย แกะ ช้างและอูฐ นอกจากนี้แล้วยังมีการประกอบอาชีพค้าขาย โดยพบหลักฐานจากการมีร้านเล็กๆ ริมสองฝากถนน และบ้านที่พักอาศัยหลายหลังที่มีความกว้างขวางใหญ่โตแตกต่างกว่าหลังอื่นๆ เช่น มีที่พักคนเฝ้าประตูริมรั้ว ซึ่งแสดงว่าคงเป็นบ้านของบรรดาพ่อค้าที่มีความมั่งคั่ง
            ด้านการผลิตเครื่องใช้แบบต่างๆ ชาวสินธุรู้จักทำเครื่องปั้นดินเผาที่เขียนลวดลายสีดำบนพื้นสีแดง เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้พบมาทั้งในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ตลอดไปจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคา พบซากเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินและสัมฤทธิ์ และพบว่าชาวสินธุรู้จักการทอผ้าขึ้นใช้เองด้วย โดยได้ขุดพบเครื่องปั้นฝ้าย แสดงว่าคนในยุคนี้รู้ตักการปั่นฝ้ายและการทอผ้าฝ้าย ซึ่งการแต่งกายของชาวสินธุจะแต่งอย่าง่ายๆ ด้วยผ้าฝ้ายเพื่อห่อหุ้มร่างกาย รู้จักใช้เครื่องประดับ เช่น กำไล แหวน เครื่องประดับ เช่น กำไล แหวน เครื่องประดับจมูก ต่างหูและใส่สร้อยคอที่ทำด้วยโลหะ เช่น เงินทอง หินมีค่าและกระดูกสัตว์
            จากหลักฐานที่ค้นพบรูปปั้นดินเผา รูปสลักต่างๆ ซึ่งเป็นรูปเจ้าแม่เป็นจำนวนมากทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวสินธุนับถือเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทพผู้หญิงหรือเทพมารดา (Mather Goddess) เช่น แม่พระธรณีซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นเทพที่ทำให้ชาวโลกอยู่ได้ด้วยความสุข พบรูปเคารพของเทพเจ้าที่เป็นเทพสตรี เปลือยท่อนบน ใส่เครื่องประดับศีรษะและสวมแต่เข็มขัดรอบๆ สะโพก รูปปั้นลักษณะดังกล่าวพบเป็นจำนวนมากในหลายท้องที่ นอกจากเพศสตรีแล้วชาวสินธุยังนับถือเทพเจ้าผู้ชายหลายองค์ด้วยกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นต้นกำเนิดของพระศิวะในศาสนาฮินดู และจากการค้นพบดวงตรา ซึ่งทำมาจากหินอ่อนเป็นจำนวนมาก บนดวงตราได้สลักรูปสัตว์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะวัว อาจจะมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในศาสนาที่เกี่ยวพับกับธรรมชาติ การนับถือภูตผีปีศาจและเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ลำธาร ภูเขา เป็นต้น
            นอกจากลักษณะดังกล่าวของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมีบางส่วนมีความคล้ายกับอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เนื่องจากได้มีการติดต่อกับอารยธรรมในบริเวณเมโสโปเตเมีย กล่าวคือ ได้พบเครื่องปั้นดินเผาลักษณะคล้ายกับที่พบในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส แสดงให้เห็นว่ามีการนำเครื่องปั้นดินเผาที่ประดิษฐ์ขึ้นในบริเวณนี้ออกไปจำหน่ายในแถบเมโสโปเตเมีย พ่อค้าในลุ่มแม่น้ำสินธุยังได้นำสิ่งของจากแถบเมโสโปเตเมียเข้ามาในแถบแม่น้ำสินธุด้วย เช่น เครื่องประดับตกแต่งร่างกายและดวงตราที่เป็นรูปทรงกระบอกบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง มีลวดลายเป็นรูปคนและสัตว์ และมีจารึกที่ยังตีความหมายไม่ได้ เป็นดวงตราที่มีลักษณะเดียวกับที่ขุดพบในเมโสโปเตเมีย
            จากหลักฐานที่กล่าวมาทำให้ทราบได้ว่าอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นอารยธรรมที่ให้ความเจริญในเรื่องการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสถานที่อำนวยประโยชน์ให้แก่สาธารณะที่แสดงให้เห็นความเจริญของสังคมความเป็นระเบียบและความคิดในทางอนุรักษ์นิยมอย่างมาก
            อารยธรรมสินธุมีความเจริญมากมายอย่างไรก็ต้องพบกับความเสื่อม กล่าวคือ ในระยะเวลาประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมสินธุก็เริ่มเสื่อมลงจากการขุดค้นทางด้านโบราณคดีเป็นหลักฐานทำให้สันนิษฐานว่า ความเสื่อมของเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุอาจเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมหรือจากโรคระบาด ทั้งนี้เพราะมีการขุดพบกองกระดูกของมนุษย์ที่ทับถมกันเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่พวกอารยันได้เข้ามารุกรานจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย และขับไล่พวกดราวิเดียนให้ถอยร่นไปทางทิศตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำคงคา บางกลุ่มได้ปะปนทางสายโลหิตกับพวกดราวิเดียนจนทำให้เกิดกลุ่มชนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า พวกฮินดู

การตั้งถิ่นฐานและการพัฒนาอารยธรรมของชาวอารยัน
การตั้งถิ่นฐานของพวกอารยัน
            พวกอารยัน (Aryan) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อริยกะ เป็นพวกที่สืบเชื่อสายมาจากพวกอินโดยูโรเปียน จัดอยู่ในกลุ่มคอเคซอยด์ (Caucasoid) ถิ่นกำเนิดของอารยันไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าอยู่ที่ใด แต่มีผู้สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณภาคกลางของทวีปเอเชีย ฮังการี อิหร่าน เอเชียตะวันออก รัสเซียและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังมีพวกอารยันกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนย้ายจากบริเวณดังกล่าวเข้ามารุกรานดินแดนในลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล
            ชาวอารยันเป็นกลุ่มชนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว จมูกโด่ง ศีรษะค่อนข้างยาว ผมสีอ่อน พวกนี้มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ซึ่งก่อนเข้ามาในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ พวกอารยันยังไม่รู้จักการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ดำรงชีวิตแบบเร่ร่อน แต่รู้จักการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก โดยสังคมอารยันถือว่าแม่วัวเป็นสมบัติหรือทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด ทำให้แม่วัวเป็นสัตว์ที่คนอารยันให้ความเคารพบูชา มีการห้ามบริโภคเนื้อวัว ซึ่งเป็นต้นเค้าของผู้ที่นับถือศาสนาอินดู ซึ่งนับถือวัวว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวอารยันมีวัฒนธรรมแบบชนเผ่า มีบิดาเป็นหัวหน้าครอบครัวและเป็นหัวหน้าทางศาสนาด้วย
            สังคมแรกๆ ของชาวอารยัน ประกอบด้วย นักรบ สามัญชน พระและยังแบ่งแยกกันเป็นเผ่าๆ แต่ละเผ่ามีหัวหน้าเป็นผู้ปกครอง การปกครองมีลักษณะพ่อบ้านปกครองลูกบ้าน (Patriarchal)

การพัฒนาของอารยธรรมอารยัน
            เรื่องราวของพวกอารยันในระยะที่ยังเป็นเผ่าเร่ร่อนอยู่นั้น ไม่มีอะไรปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากพวกอารยันไม่รู้จักระบบการเขียนตัวอักษร แต่เมื่อพวกอารยันได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสินธุแล้วจึงรู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษร ในช่วงแรกๆ เรื่องราวของเผ่าอารยันถูกเล่าต่อๆ กันเป็นนิทาน ตำนาน แต่ในระยะหลักการเล่าเรื่องราวเปลี่ยนเป็นการสวดสรรเสริญบรรพบุรุษและกลายเป็นพิธีทางศาสนาไปในที่สุด คำสวดต่างๆ ในพิธีทางศาสนาของพวกอารยันในระยะแรกได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเป็นวรรณคดีของพวกอารยัน บทโคลงทางศาสนานี้เข้าใจว่าเป็นของดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่อารยันยังไม่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอินเดีย คือ ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล คำสวดต่างๆ ของอารยันในยุคแรกนี้เรียกว่า พระเวท (Veda) พระเวทเป็นคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นศาสนาฮินดู ประกิบด้วยคัมภีร์ย่อย 3 เล่ม คือ
            1.ฤคเวท เป็นร้อยกรอง ใช้ในการสวดบูชาพระเจ้าซึ่งมีอยู่หลายองค์ มีบทสวดทั้งหมด 1,028 บทสวด
            2.ยชุรเวท กล่าวถึงการบูชาและวิธีบูชาเทพเจ้าเป็นส่วนประกอบของคัมภีร์ฤคเวท
            3.สามเวท เป็นร้อยกรองเป็นฉบับรวมบทร้องสวด บูชาและสรรเสริญเทพเจ้าส่วนใหญ่นำมาจากคัมภีร์ฤคเวท
            คัมภีร์ทั้งสามเล่มนี้รวมเรียกว่า “ไตรเวท” เป็นพระเวทที่เกิดขึ้นในยุคแรก พระเวทนี้ถือว่าเป็นวรรณคดี เพราะมีการรจนาด้วยภาษาที่ไพเราะ คัมภีร์อีกเล่มหนึ่งซึ่งเกิดในยุคกลาง คือ อาธรรพเวท เป็นเรื่องราวของของเคล็ดลับในการสร้างความเจริญและสาเหตุแห่งความเสื่อมและบรรยายถึงความเชื่อต่างๆ ด้วย
            นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์อุปนิษัทที่อธิบายสาระสำคัญของพระเวทเป็นปรัชญา อธิบายธรรมชาติ จักรวาล วิญญาณ มนุษย์ กฎแห่งกรรมและความจริงอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีสอง ปรัชญาจากคัมภีร์อุปนิษัทเป็นรากฐานของศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อในเรื่องของชาติหน้า โดยเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วอาจจะเกิดขึ้นมาใหม่ในร่างของสัตว์ก็ได้ และเชื่อว่าพืชและสัตว์ล้วนแต่มีวิญญาณ ต่อมาภายหลังราว 700 ปีก่อนคริสตกาล คัมภีร์อุปนิษัทได้รับการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ โดยโคตรมะนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งในสมัยนั้น
            พระเวทเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญทำให้เราทราบเรื่องราวต่างๆ และการตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสินธุของพวกอารยันในระยะแรกๆ  ดังนั้นเราจึงเรียกความเจริญในยุคแรกของพวกอารยันนี้ว่า ยุคพระเวท (Veda Age) ซึ่งมีอายุประมาณ 2,000-1,250 ปีก่อนคริสตกาล
            สังคมของอารยันในยุคพระเวท เป็นสังคมที่มีชีวิตชีวา หน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดของสังคมคือ ครอบครัว ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่ในการทำพิธีทางศาสนาและควบคุมเศรษฐกิจของครอบครัว คัมภีร์ฤคเวทยังกำหนดให้ผู้ชายมีภรรยาคนเดียว การแต่งงานถือเป็นข้อผูกพันที่ศักดิ์สิทธิ์ หญิงเมื่อแต่งงานแล้วจะย้ายไปอยู่ที่บ้านของฝ่ายชายและได้รับเกียรติอย่างมาก ภรรยาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในพิธีทางศาสนาร่วมกับสามี ถ้าพิธีนั้นขากภรรยาเชื่อว่าจะไม่บังเกิดผลตามความปรารถนาของผู้ประกอบพิธี บ้านเรือนของพวกอารยันในยุคพระเวทนี้ สร้างด้วยไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุงด้วยหลังคาจากพื้นบ้านทำด้วยดินเหนียว มีเตาไฟไว้จุดบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทพแห่งธรรมชาติที่มีความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ เทพเจ้าของชาวอารยันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
            1.เทพเจ้าภาคพื้นดิน ได้แก่ ปฐพี อัคนี น้ำโสม
            2.เทพเจ้าภาคพื้นอากาศ ได้แก่ อินทราและพายุ
            3.เทพเจ้าภาคพื้นสวรรค์ ได้แก่ อรุณ สุริยะ อัศวิน สาวิตตรี มิตราและวิษณุ เป็นต้น
            ภายหลังได้มีการเคารพพลังธรรมชาติดังกล่าวในรูปของเทพและเทพีซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เทพที่มีผู้นิยมนับถือมาคือ พระอินทร์ และชาวอารยันเชื่อว่าเทพเจ้ามีความรู้สึกและพฤติกรรมคล้ายกับมนุษย์ แต่มีอำนาจหรืออภินิหารเหนือมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องบวงสรวงให้ถูกต้อง เมื่อบวงสรวงถูกต้องเทพเจ้าจะเมตตาประทานให้ตามที่ปรารถนา พิธีบวงสรวงหรือบูชายัญจะสำเร็จลงได้จะมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ทำให้พราหมณ์กลายเป็นกลุ่มคนที่มีสถานภาพสำคัญในฐานะผู้รู้เวทย์มนต์คาถา เพราะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ นอกจากนี้ พวกอารยันในรุ่นแรกๆ นิยมสร้างศาสนาสถานหรือรูปปั้นเทพเจ้า
            พวกอารยันเมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นจำนวนมากได้พยายามยึดที่ดินจากชาวพื้นเมืองเดิม คือ พวกดราวิเดียน ก่อให้เกิดสงครามดังจะเห็นจากหลักฐานในคัมภีร์ฤคเวทที่กล่าวถึงการทำสงครามระหว่างพวกอารยันและพวกดราวิเดียนว่า พวกอารยันมีความชำนาญในการรบและมีนิสัยในการชอบต่อสู้ พวกนี้มีความชำนาญในการใช้อาวุธต่างๆ เช่น การใช้ธนูไฟและการใช้ดาบ เมื่อสงครามระหว่างอารยันกับดราวิเดียนสิ้นสุดลง พวกดราวิเดียนบางกลุ่มอพยพหนีการปกครองของพวกอารยันลงไปอยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย บางพวกถูกบังคับเป็นเชลย เชลยชาวดราวิเดียนส่วนใหญ่เป็นเชลยผู้หญิง ซึ่งพวกอารยันได้รับไปเป็นคนรับใช้ในบ้าน ต่อมาเกิดการแต่งงานระหว่างพวกดราวิเดียนและพวกอารยัน  ลูกที่เกิดมามักจะมีความใกล้ชิดและอยู่ในความดูแลของแม่ซึ่งเป็นดราวิเดียน ทำให้สถานภาพภายในของพวกอารยันเริ่มเปลี่ยนไป คือ เริ่มมีการผสมผสานประเพณีและความนึกคิดของดราวิเดียนเข้าไปด้วย ผู้ปกครองของพวกอารยันเห็นสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้จึงเกิดความกลัวว่าจะถูกพวกดราวิเดียนกลืนเผ่าพันธุ์หมด จึงได้ออกกฎห้ามพวกอารยันแต่งงานกับพวกดราวิเดียนอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติอารยันและความบริสุทธิ์ในการทำพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของของการเกิดระบบวรรณะขึ้นในอินเดีย
            ระบบวรรณะ เป็นการวางกฎโครงสร้างของสังคมอารยันในทางทฤษฎี ในระยะแรกเป็นการแยกระหว่างผู้ชนะคืออารยันกับผู้แพ้คือดราวิเดียน แต่ต่อมาเมื่อชาวอารยันแต่งงานกับชาวพื้นเมืองเพิ่มมากขึ้นทำให้อารยันมีความคิดว่า กลุ่มของตนมีอารยธรรมที่เหนือกว่ากลุ่มอื่น และเกรงว่ากลุ่มของตนที่มีอยู่จำนวนน้อยจะโดนกลืนเผ่าพันธุ์ จึงต้องรักษาเผ่าพันธุ์ที่แท้จริงเอาไว้ ทำให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะขึ้นในราวสมัยพระเวทตอนปลาย ต่อมาระบบวรรณะถูกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในสมัยนั้น คือ พัฒนาเป็นการแบ่งชนชั้นและการปกครองอาชีพในสังคมมนุษย์มี 4 วรรณะคือ
            1.วรรณะพราหมณ์ ทำหน้าที่ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์และถือว่าเป็นผู้ให้ปัญญาแก่สังคม มาจากส่วนหัวของพระเจ้า ได้แก่ นักบวช
            2.วรรณะกษัตริย์ ทำหน้าที่ปกครองและป้องกันบ้านเมือง เป็นกำลังของสังคม มาจากส่วนอกของพระเจ้า ได้แก่ ผู้ปกครองประเทศและนักรบ
            3.วรรณะแพศย์(ไวศยะ) เป็นชนชั้นกสิกรรม ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตอาหารและหารายได้ให้แก่รัฐเป็นผู้ที่เป็นกำลังทางเศรษฐกิจของสังคม มาจากส่วนขาของพระเจ้า ได้แก่ สามัญชน ประกอบด้วย ชาวนา นายช่าง พ่อค้า
            4.วรรณะศูทร ทัหน้าที่รับใช้สามวรรณะแรกเป็นแรงงานของสังคมมาจากส่วนเท้าของพระเจ้า ได้แก่ กรรมกร คนงานผู้ไม่มีฝีมือ รวมถึงชาวพื้นเมืองดราวิเดียนดั้งเดิมที่เป็นทาสด้วย
            ส่วนพวกที่ไม่มีวรรณะ คือ พวกจัณฑาล พวกนี้จะเป็นลูกต่างวรรณะ เช่น บิดาเป็นศูทรและมารดาเป็นพราหมณ์มีลูกออกมา เรียกว่าจัณฑาล ถือว่าเป็นกลุ่มคนชั้นต่ำสุด ถูกเหยียดหยามที่สุดในระบบวรรณะของศาสนาพราหมณ์ การแบ่งวรรณะแสดงให้เห็นโครงสร้างสังคมของพวกอารยันว่าต้องประกอบด้วยปัญญา อำนาจ เงินและงาน เปรียบเสมือนส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ โดยคนอารยันมีความเห็นว่าคนที่เกิดในวรรณะใด ก็ต้องทำหน้าที่ในวรรณะนั้นให้ดีที่สุดเมื่อตายแล้วจะได้กลับมาเกิดในวรรณะที่สูง ถ้าใครทำไม่ดีตายแล้วจะกลับมากเกิดในวรรณะต่ำลง ส่วนวรรณะพราหมณ์เป็นคนที่สมบูรณ์แล้วจะไม่กลับมาเกิดอีก ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในลักษณะนี้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนอินเดียยอมอยู่ภายใต้ระบบวรรณะ
            ชาวอารยันมีการรวมตัวกันเป็นเผ่าหัวหน้าเผ่าเรียกว่า ราชา (Raja) ราชาไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการปกครอง ต่อมาภายหลังอำนาจของผู้ปกครองเริ่มมีมากขึ้นและมีหน้าที่สำคัญคือ เป็นแม่ทัพต่อมาอำนาจของราชาเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายอำนาจและอาณาเขตของเผ่าไปยังเผ่าอื่นและการสงครามระหว่างพวกอารยันเอง ทำให้อำนาจของราชาเปลี่ยนไป โดยได้รับการยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์แบบสมมติเทพ ดังนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้ตำแหน่งกษัตริย์ดูมีความศักดิ์สิทิ์เหมือนเทพเจ้า
            การทำสงครามยังทำให้พวกอารยันสามารถยึดดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ของอินเดีย ทำให้ชาวอารยันหันมาประกอบอาชีพเพาะปลูก พืชที่ปลูก เช่น ข้าวชนิดต่างๆ และในขณะเดียวกันก็ยังมีการเลี้ยงสัตว์ประเภทวัว แพะ แกะและม้า เพราะสามารถใช้แรงงานในยามปกติและยามสงคราม ชาวอารยันนิยมบริโภคอาหารประเภทเนื้อแพะและแกะ ที่นิยมบริโภคกันมากคือ อาหารที่ทำมาจากแป้ง นมและเนย นอกจากนี้ ยังนิยมดื่มน้ำโสม (เหล้านชนิดหนึ่งกลั่นจากรากไม้ นิยมดื่มในพิธีทางศาสนา) ส่วนการแต่งกายของพวกอารยันนิยมใช้ผ้าขนสัตว์หรือผ้าหนาๆ นิยมใช้ทองเป็นเครื่องประดับตกแต่ง แสดงให้เห็นว่าพวกอารยันมีความชำนาญความสามารถในเชิงช่างผิดกับสมัยที่ยังเป็นชนเผ่าเร่ร่อน
            ยุคต่อมาคือ ยุคมหากาพย์ เป็นสมัยของการขยายตัวของพวกอารยัน คือ เป็นสมัยที่พวกอารยันได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอย่างมั่นคงทางภาคตะวันตก ภาคเหนือและเลยไปเขตลุ่มแม่น้ำคงคา เรื่องราวของยุคมหากาพย์จะพบได้จากหลักฐานที่สำคัญ 2 เล่มคือ มหากาพย์มหาภารตะและมหากาพย์รามยณะหรือรามเกียรติ์ เรื่องราวในยุคนี้สภาพการณ์ทั่วไปเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์และเมื่อมีอำนาจจากภายนอกเข้ามา ความเชื่อมั่นในตนเองของอารยันเริ่มน้อยลงจึงได้มีการเรียกร้องให้มีการรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้เกิดกำลังและความกลมเกลียวภายในหมู่อารยัน พร้อมกันนี้ได้กำหนดข้อห้ามต่างๆ ขึ้น สมัยนี้เป็นสมัยที่อินเดียมีความเจริญทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างมากจนถึงตอนปลายสมัยจึงเกิดความวุ่นวายขึ้น
            ด้านการเมือง ยุคมหากาพย์มีการเมือง 2 ลักษณะ คือ รัฐแบบราชาธิปไตยที่ปกครองด้วยราชาและแบบสาธารณรัฐที่ปกครองด้วยสภาอำมาตย์ในระบบรัฐสภา
                        การปกครองแบบราชาธิปไตยที่ปกครองด้วยราชา อำนาจของราชามีมากขึ้นกว่าในสมัยพระเวท คือ สามารถมีกองทหารจองตนเองติดตามไปยังที่ต่างๆ ตำแหน่งของราชาสืบต่ออยู่ในตระกูลเดียวกันและต้องเป็นผู้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ ความคิดที่ว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทพได้รับการยึดถือเคร่งครัด เขตที่มีการปกครองระบอบนี้ส่วนใหญ่มักจะอยู่บริเวณแม่น้ำคงคา รัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงคือ แคว้นโกศล แคว้นมคธ เป็นต้น
                        การปกครองแบบสาธารณรัฐที่ปกครองด้วยสภาอำมาตย์ในระบบรัฐสภา มีเขตการปกครองแบบสาธารณรัฐส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือและเชิงเขาหิมาลัย งานบริหารในสาธารณรัฐเน้นความสำคัญเรื่องการประชุมปรึกษาระหว่างผู้แทนทั้งหมดของหมู่หรือหัวหน้าครอบครัว มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มีประธานซึ่งเลือกตั้งจากที่ประชุมทั้งหมดมีตำแหน่งเป็นราชา ซึ่งตำแหน่งนี้ไม่สืบต่อในตระกูลและมีความหมายเพียงเป็นหัวหน้าหรือประธานมากกว่ากษัตริย์
            ด้านเศรษฐกิจ ยุคมหากาพย์มีการใช้เหรียญทองแดงในการแลกเปลี่ยนแทนการใช้วัวเป็นอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยที่อารยันยังเป็นเผ่าเร่ร่อน มีการทำเหมืองโลหะนำโลหะมีค่าขึ้นมาใช้ เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก ดีบุก ตะกั่ว ฯลฯ และในช่วงนี้การค้าขายมีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะการค้าขายกับต่างชาติทั้งทางบกและทางทะเล เช่น เกิดอาณานิคมของพ่อค้าชาวอินเดียที่เมืองเมมเฟสในอียิปต์ มีการเก็บภาษีอากรมีรายได้จากการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้น
            ด้านสังคม ยุคมหากาพย์ สถาบันทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ระบบวรรณะที่เกิดขึ้นในสมัยพระเวทที่เป็นการแบ่งระหว่างพวกอารยันกับพวกดราวิเดียน มาในสมัยนี้มีการแบ่งวรรณะภายในพวกอารยันด้วยกันเองชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันวรรณะพราหมณ์ก็ได้กลายเป็นวรรณะที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงแรกวรรณะกษัตริย์มีฐานะสูงกว่าวรรณะพราหมณ์ แต่เมื่อสงครามเบาลงศาสนาเพิ่มความสำคัญมากขึ้น วรรณะพราหมณ์ซึ่งประชาชนเข้าในว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้กับมนุษย์ทำให้วรรณะพราหมณ์กลายเป็นวรรณะที่มีความสำคัญขึ้นมาในสังคม
            ด้านศาสนา สังคมอินเดียมีศาสนาและความเชื่อของผู้คนอยู่มากมาย แต่ที่สำคัญโดดเด่นมีดังนี้
            1) ศาสนาเชน หรือที่เรียกว่า “ชินศาสตร์” เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเช่นเดียวกันศาสนาอื่นอีกหลายศาสนา มีศาสดาคือพระมหาวีระ โดยศาสนาเชนมีอยู่ด้วยกัน 2 นิกายคือ นิกายทิคัมพร คือ นักบวชที่ไม่ยึดติดแพรพรรณต่างๆ ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดไม่มีเครื่องปกปิดร่างกาย นุ่งลมห่มฟ้าหรือที่เรียกว่าชีเปลือย และนิกายเศวตคัมพร คือ นุ่งห่มผ้าสีขาวเพื่อปกปิดร่างกายหรือเรียกว่าชีผ้าขาวหรือชีปะขาว หลักคำสอนของศาสนาเชนประกอบด้วย
                หลักคำสอนว่าด้วยชีวะ เป็นคำสอนที่เน้นให้เห็นว่าในจักรวาลประกอบด้วยวิญญาณที่เข้าไปเกี่ยวพันอยู่ในวัตถุต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต และวิญญาณจะพ้นความทุกข์ได้โดยการปลดเปลื้องวิญญาณออกจากวัตถุ แล้วงดวงจิตวิญญาณจะได้รับความบริสุทธิ์ดังเดิม
            ธรรมะ 3 ประการ คือ สัมยัคทรรศนะ คือความเห็นชอบ โดยเห็นว่าบรรดาศาสดาที่ถึงบรรลุแล้วเดิมเป็นบุคคลธรรมดา แต่มีความเพียรอย่างแรงกล้าจึงทำให้บรรลุความหลุดพ้นและนำธรรมะมาสั่งสอนมนุษย์ สัมยัคชญาณ คือความรู้ชอบโดยรู้หลักตามชินศาสตร์ และสัมยัคจริต คือความประพฤติชอบ โดยการปฏิบัติตามวินัยข้อบังคัมของศาสนาอย่างเคร่งครัด
            ปฏิญญา 5 ประการ ได้แก่ ต้องปฏิญาณว่าจะไม่ฆ่าสัตว์หรือเบียดเบียนสัตว์ ต้องปฏิญาณว่าจะไม่ลักขโมย ต้องปฏิญาณว่าจะไม่พูดเท็จ ต้องปฏิญาณว่าจะดำรงชีวิตอย่างบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ และต้องปฏิญาณว่าจะไม่ต้องการสิ่งใดเกินสมควร
            นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องการฆ่าสิ่งมีชีวิต แม้แต่การฆ่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ในดินก็ไม่ได้ เนื่องจากศาสนาเชนมีความเคร่งครัดมากจึงไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
            2) พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียและเผยแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ มีเจ้าชายสิทธัตถะแห่งราชวงศ์ศากยะหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา พระองค์ไม่เห็นด้วยกับระบบวรรณะของอารยัน โดยถือว่าคนแตกต่างกันที่ความประพฤติ คือ ทำดีละเว้นความชั่ว นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าพยายามหาทางให้หลุดพ้นจากความทุกข์ของชีวิต โดยในครั้งแรกของการแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น พระองค์จะใช้วิธีบำเพ็ญตบะโดยการทรมานร่างกายแต่ก็ไม่หลุดพ้นจากความทุกข์นั้น พระองค์จึงเลือกทางสายกลางจนสามารถตรัสรู้ธรรมได้ เรียกว่า ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร หมายถึงหลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องด้วยวงล้อหรืออริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ (ความเสื่อมของกายใจ) สมุทัย (สาเหตุแห่งความทุกข์) นิโรธ (การดับทุกข์) และมรรค (วิถีทางที่จะดับทุกข์)
            พุทธศาสนามีคัมภีร์ที่สำคัญคือ พระไตรปิฎก หมายถึง การจำแนกคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งมีทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ และแบ่งออกเป็น 3 หมวดคือ พระสูตร หมายถึงหลักคำสอนทั่วไป พระวินัย หมายถึงกฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อห้าม ข้อควรเว้นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ และพระอภิธรรม หมายถึงการอธิบายและวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับจิตวิทยา จริยศาสตร์และกฎธรรมชาติอื่นๆ เป็นธรรมชั้นสูง มุ่งเพื่อความหลุดพ้นจากโลกีย์ไปสู่สภาพของโลกุตระ
            นอกจากนี้พุทธสาสนายังมีหลักคำสอนที่สำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนประชาชนอยู่ 3 หัวข้อคือ
                        1.ศีล เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเรียกรู้ คือ การทำกาย วาจากหรือความประพฤติของมนุษย์ให้เป็นระเบียบ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ศีลสำหรับประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติศีล 5 ข้อ หรือศีล 8 ที่เรียกว่า อุโบสถศีล สามเณรต้องปฏิบัติศีล 10 ข้อ และภิกษุสงฆ์ต้องปฏิบัติศีล 227 ข้อ
                        2.สมาธิ เป็นการฝึกจิตใจ คือ ต้องตั้งจิตใจไว้ให้มั่น เป็นการช่วยชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดเป็นการช่วยทำลายกิเลสในขั้นกลาง
                        3.ปัญญา เป็นจุดหมายปลายทาง คือ การรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นไปของสภาพสิ่งทั้งปวงมีสมาธิพิจารณาในความเป็นไปของสรรพสิ่งต่างๆ มุ่งมั่น จดจ่อทั้งร่างกาย จิตใจและชีวิต ซึ่งส่งผลถึง “วิมุตติ” คือ ความหลุดพ้น
            หลัดคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนาอีกประการหนึ่งคือ หลักธรรมคำสอนที่มุ่งเน้นเรื่อง “กฎแห่งกรรม” เป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของพุทธสาสนา โดยพุทธศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม คือ เชื่อว่ากรรมเป็นปัจจัยจำแนกสรรพสัตว์ทั้งปวงให้มีความเป็นไปตามสภาพที่เป็นอยู่ หรือที่กล่าวว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
            3) ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก เกิดที่ประเทศอินเดีย ซึ่งกลุ่มชนที่นับถือศาสนาพราหมณ์มากที่สุดคือ ชาวอารยัน ซึ่งพวกนี้เรียกตนเองว่า “พราหมณ์” ภายหลังศาสนาพราหมณ์ได้เผยแพร่ออกไปปกคลุมชนชาติฮินดูในบริเวณแบบแม่น้ำสินธุทำให้ศาสนาพราหมณ์ ภายหลังจึงได้พัฒนาเป็นศาสนาฮินดู ซึ่งจะมีหลักการแตกต่างออกไปจากศาสนาเดิมเล็กน้อย ศาสนาพราหมณ์ไม่มีศาสดาองค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้ประกาศศาสนา แต่ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ด้วยกัน เทพเจ้าที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์มีอยู่ 3 องค์ หรือที่เรียกว่า “ตรีมูรติ” ได้แก่ พระพรหม เทพเจ้าผู้สร้างโลก พระวิษณุหรือพระนารายณ์ เทพเจ้าผู้รักษา และพระศิวะหรือพระอิศวร เทพเจ้าผู้ทำลาย ทรงดูแลโลกและความเป็นไปของชีวิต
            ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในระยะหลังแบ่งออกเป็น 2 นิกายคือ ไศวนิกาย นับถือพระสิวะเป็นใหญ่ นักบวชที่นับถือนิกายนี้นำสีขาวมาทาที่หน้าผาดหรือแขนเป็นเส้นนอนหมายถึงการถูกทำลาย และไวษณนิกาย นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ นักบวชที่นับถือนิกายนี้นำสีเหลืองมาทาที่หน้าผากเป็นเส้นยืนหมายถึงการรักษาคุ้มครองโลก

การรุกรานของชาวต่างชาติ
            ปลายยุคมหากาพย์ มีชาวต่างชาติเข้ามารุกรานและมีอิทธิพลต่ออารยธรรมอินเดียคือ
            1.เปอร์เซีย อินเดียกับเปอร์เซียมีความสัมพันธ์กันมานานแล้ว ต่อมาประมาณ 558-530 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าไซรัสแห่งราชวงศ์อาคีเมเนีย กษัตริย์แห่งเปอร์เซียได้ขยายอิทธิพลโดยยกกองทัพเข้ายึดครองอาณาบริเวณตะวันตกของลุ่มแม่น้ำสินธุ ต่อมาในช่วงประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าดาไรอัสที่ 1 ได้ส่งกองเรือยึดเอาบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของเปอร์เซียและในสมัยของเซอร์ซิส อิทธิพลของเปอร์เซียก็เริ่มเสื่อมลง ทำให้ดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองแตกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย
            2.กรีก ในปี 336-326 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งแคว้นมาซิโดเนียของกรีก (Alexander of Macedonia) ได้ยกกองทัพเข้าทางช่องเขาแถบเทือกเขาฮินดูกูส เข้าครอบครองอาณาบริเวณที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของเปอร์เซียและเข้ารุกรานที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ หลังจากนั้นจะยกทัพไปยังบริเวณลุ่มแม่น้ำคงคง แต่กองทัพกรีกอ่อนล้าจากการเดินทัพทางไกลจึงไม่เดินทางต่อและได้ยกทัพกลับในปี 325 ก่อนคริสตกาล แต่ถึงกระนั้นก็มีกรีกบางกลุ่มได้ตั้งหลักแหล่งในรัฐตอนเหนือของอินเดีย และได้เข้ารับราชการในราชสำนักของกษัตริย์อินเดีย ต่อมาเมื่อเวลานานเข้าได้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชนทั้ง 2 กลุ่ม โดยชาวอินเดียรับเอาการทำเงินเหรียญกษาปณ์และการศึกษาวิชาดาราศาสตร์จากชาวกรีก ในขณะที่ความคิดเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญาอินเดียก็ถ่ายทอดสู่นักคิดและนักปราชญ์ชาวกรีก
            การที่มีคนต่างชาติเข้ามารุกรานอินเดีย ทำให้อินเดียเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ประเทศตะวันตกเป็นครั้งแรก และอินเดียจะใช้วิธีในการเผชิญหน้ากับการรุกรานจากต่างชาติ โดยการต่อสู้ขับไล่ศัตรูออกไปหรือมิฉะนั้นก็ใช้วิธีดูดกลืนพวกที่ไม่สามารถขับไล่ไปได้ กล่าวคือ อินเดียจะเพิ่มคนในวรรณะต่ำ โดยรวมเอาชนเผ่าใหม่ที่พวกอารยันรบชนะเข้าไว้ในวรรณะต่ำ ส่วนพวกที่สามารถรบชนะพวกอารยันได้ก็จัดอยู่ในวรรณะกษัตริย์หรือชนชั้นปกครอง ซึ่งต่อมาพวกคนเหล่านี้อีก 2-3 ชั่วอายุคนก็ถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย

การเกิดและการเสื่อมของจักรวรรดิในสมัยโมริยะ
ราชวงศ์โมริยะ (Mauryan Dynasty) ประมาณ 321-184 ปีก่อนคริสตกาล
            การรวมตัวเป็นจักรวรรดิในสมัยโมริยะ เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ได้ 2 ปี จันทรคุปต์ ผ้เป็นหัวหน้าเผ่าโมริยะ กรีธาทัพเข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปัญจาบและสามารรวบรวมแคว้นเล็กๆ ในดินแดนลุ่มแม่น้ำคงคาไว้ได้ทั้งหมดและขับไล่พวกต่างชาติออกจากดินแดนอินเดีย หลังจากนั้นได้ขยายอำนาจจนสามารถผนวกดินแดนในลุ่มแม่น้ำสินธุเอาไว้ได้จึงสถาปนาราชวงศ์โมริยะขึ้นปกครองอินเดีย มีเมืองหลวงอยู่ที่ ปาฏลีบุตร ต่อมาพระเจ้าจันทรคุปต์ได้แผ่ขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทะเลอาหรับจนถึงอ่าวเบงกอล การแพร่ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางนี้ทำให้อินเดียมีความเป็นเอกภาพและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเดียว คือ ทำให้อินเดียขยายตัวจนกลายเป็นจักรวรรดินั้นเอง พระเจ้าจันทรคุปต์ทรงใช้หลักการปกครองอย่างเด็ดขาดและรุนแรง สมัยต่อมาหรือพระเจ้าพินทุสาร พระราชโอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์ได้ครอบครองอาณาจักรทั้งหมดสืบมาและได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกรีก พระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญของราชวงศ์โมริยะและได้รับยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลกคือ พระเจ้าอโศกมหาราช พระราชโอรสของพระเจ้าพินทุสารและพระราชนัดดาของพระเจ้าจันทรคุปต์ โดยพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างขวาง
            พระเจ้าอโศกมหาราชเดิมทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ ทรงมีนโยบายที่จะรวมอินเดียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามนโยบายของพระเจ้าจันทรคุปต์ เพื่อแผ่พระราชอาณาเขตของอาณาจักรออกไปโดยทรงรวมแคว้นอัฟกานิสถาน บาลูจิสถาน แคชเมียร์ เนปาล สิกขิม ภาคเหนือของอินเดียทั้งหมดตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำสินธุไปจนถึงอ่าวเบงกอลและทางใต้เลยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำกฤษณา ต่อมาในปี 262 ก่อนคริสตกาล พระองค์ได้ทรงวางแผนที่จะพิชิตแคว้นกลิงคะและการสงครามครั้งนี้ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ที่ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเปลี่ยนแปลงนโยบายการขยายอำนาจ กล่าวคือ แม้ว่าพระองค์จะประสบความสำเร็จในการเอาชนะแคว้นกลิงคะได้ แต่ราษฎรกลิงคะได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญและทรหด เป็นเหตุให้ประชาชนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้สร้างความสลดพระทัยจนทำให้พระเจ้าอโศกเริ่มชิงชังสงคราม ทรงเริ่มสนใจมาใช้หลักสันติธรรมในการปกครอง ทรงตรัสว่าชัยชนะที่แท้จริงคือชนะใจของคนด้วยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตั้งมั่นในพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดและเผยแพร่พระพุทธศาสนาออกไป
            ภายในอาณาจักร พระเจ้าอโศกมหาราชทรงตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นเพื่อเผยแพร่ศีลธรรมจริยธรรมต่อประชาชน ทรงเน้นเรื่องสันติภาพไม่กดขี่บังคับประชาชนในเรื่องความเชื่อทางศาสนา ทรงโปรดให้จารึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าบนศิลาจารึกเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาอย่างมากมาย โดยสิ่งที่จารึกส่วนใหญ่เป็นบทปฏิบัติเกี่ยวกับชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา จารึกเหล่านี้ถูกจารึกอยู่ทั่วไป เช่น ตามถ้อ เสาหินและที่ปักตามชายแดนทั่วอาณาจักรและในปัจจุบันถือว่าจารึกเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างมาก นอกจากนี้พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้สร้างวัดวาอารามเป็นที่พักของพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร อีกทั้งยังทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาออกไปยังดินแดนใกล้เคียงอีก โดยส่งเชื้อพระวงศ์หรือสมณะทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาคือ ทางเหนือในเขตเทือกเขาหิมาลัย ทางใต้ไปยังอาณาจักรทมิฬและอาณาจักรลังกา และสุวรรณภูมิ(พม่ากับไทย) ไปไกลถึงซีเรียและกรีก
            ในสมัยราชวงศ์โมริยะ โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีการสร้างศิลปกรรมซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ การก่อสร้างและประติมากรรม
            การก่อสร้าง ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงได้มีการก่อสร้างศาสนสถานทางพุทธศาสนา ปราสาทราชวัง โบสถ์ วิหารและสถูป ซึ่งสร้างด้วยดิน อิฐ ไม้และที่สำคัญนิยมใช้หินในการก่อสร้าง การก่อสร้างในสมัยนี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากพวกเปอร์เซียและกรีก สิ่งก่อสร้างที่ขึ้นชื่อคือ เสาหินและสถูป โดยเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้มีการจารึกพระธรรมคำสั่งสอนบนเสาหิน ปีกตามชายแดนทั่วพระราชอาณาจักร ตั้งแต่เขตอัฟกานิสถานลงไปจนถึงแคว้นไมซอร์ทางใต้ เสาหินนี้มีชื่อเรียกกันว่า “เสาพระเจ้าอโศก” (Asoka’s Pillars) ส่วนสถูปสร้างแทนปรางค์ปรินิพพานมีลักษณะสร้างเป็นรูปโอคว่ำ มีแท่นหรืออาสนะสี่เหลี่ยมอยู่ข้างบนเหนืออาสนะมีกลดหรือร่มเพื่อเป็นการแสดงฐานะของกษัตริย์ รอบๆ สถูปมีรั้วหินและประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ที่ทำด้วยหินเหลี่ยมแบบไม้และมีการแกะสลักลวดลายต่างๆ และประดับที่รั้วและที่ประตูเป็นภาพพุทธประวัติแต่ไม่มีภาพพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ สถูปที่ขึ้นชื่อในความงามคือ สถูปที่เมืองสาญจี
            ประติมากรรม นิยมการแกะสลักหินเพื่อประดับวัด ภาพที่แกะสลักส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธประวัติและภาพสัตว์ ภาพแกะสลักที่มีชื่อเสียง เช่น ภาพแกะสลักหัวเสาของพระเจ้าอโศกและภาพแกะสลักที่หัวเสาในถ้ำกาลี ซึ่งการแกะสลักหัวเสานั้นได้อิทธิพลมาจากเปอร์เซีย แต่ในบางแห่ง เช่น ที่ภารหุต สาญจีและที่พุทธคยา ล้วนเป็นศิลปะฝีมือของอินเดียที่แสดงถึงความเชื่อมั่นในตนเอง และได้รับความอ่อนหวานจากพุทธศาสนามาเป็นส่วนประกอบของภาพธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต
            พระเจ้าอโศกมหาราชปกครองอินเดียอยู่ถึงปี 236 ก่อนคริสตกาล หลังจาหนั้นกษัตริย์ในราชวงศ์โมริยะที่ปกครองอินเดียต่อจากพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ปรากฏมีพระราชกรณียกิจที่เด่นเป็นพิเศษ ทำให้จักรวรรดิโมริยะเริ่มอ่อนแอลง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โมริยะถูกพวกพราหมณ์กำจัดและราชวงศ์นี้สิ้นอำนาจเมื่อปี 184 ก่อนคริสตกาล

ราชวงศ์สังกะ (Sunga Dynasty) 184-72 ปีก่อนคริสตกาล
            ราชวงศ์สังกะนับว่าเป็นราชวงศ์ของชาวต่างชาติราชวงศ์แรกที่ปกครองอินเดีย กล่าวคือ เป็นการผสมผสานระหว่างกรีกและอินเดีย ราชวงศ์นี้ก่อตัวขึ้นจากความเสื่อมและความแตกแยกทางการเมืองในสมัยราชวงศ์โมริยะ ได้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอินเดียตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์โมริยะหลายชาติ เช่น กรีก เปอร์เซีย
            พวกกรีกที่อาศัยอยู่ในแคว้นบัคเตรีย เรียกว่า อินโดกรีก คือกรีกที่ปะปนกับอินเดีย มีหัวหน้าชื่อ ทาแอนติโอคัส เริ่มรุกรานอัฟกานิสถาน เข้าสู่แคว้นปัญจาบและขยายลงสู่ตอนบนและตอนล่างของลุ่มแม่น้ำสินธุ เลยไปทางตะวันออกถึงลุ่มแม่น้ำยมนาและแคว้นอโยธยา ยุคที่เจริญที่สุดของราชวงศ์นี้คือในสมัยพระเจ้ามิลินทร์ ระหว่างปี 125-95 ก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงอุปถัมภ์พุทธสาสนา โปรดให้ก่อสร้างและแต่งศาสนสถาน เช่น ทำราวบันไดประตูรอบสถูปที่สาญจีและพุทธคยา พระองค์ทรงได้รับการยกย่องในเรื่องความฉลาดและกล้าหาญ
            ด้านวรรณคดี มีการรวบรวมตำราทางพระพุทธศาสนาขึ้น เรียกว่า ปัญหาของพระเจ้ามิลินทร์ (มิลินทปัญหา) เป็นการนำวรรณคดีตามแบบกรีกเข้ามา คือ การถามปัญหาและตอบปัญหาโต้ตอบกัน
            ด้านศิลปกรรม สมัยนี้นำเอาศิลปะแบบกรีกเข้ามาปะปนเป็นครั้งแรกและเริ่มมีการปั้นพระปฏิมาของพระพุทธเจ้า โดยใช้ภาพเทพเจ้าอพอลโล (Apollo) ของกรีกที่มีรูปร่างงดงามกับคุณลักษณะที่ประเสริฐ 12 ประการที่ปรากฏในตำราอินเดีย ในระยะนี้เกิดศิลปะแบบคันธาราฐ ซึ่งอยู่ในแคว้นคันธาระเป็นศิลปะแบบนี้รูปหน้าพระปฏิมาคล้ายทางพวกกรีก โดยเป็นศิลปะที่มีชื่อเสียงอย่างมากและมีอิทธิพลต่อศิลปะอินเดียในสมัยหลังด้วย นอกจากจะแกะสลักหินแล้วยังมีการวาดภาพบนฝาผนังถ้ำ ภาพวาดหรือที่แกะสลักมักเกี่ยวกับพุทธประวัติ เช่น ภาพสลักตามถ้ำต่างๆ เช่นที่ ถ้าบาจา ถ้าอาชันตะ นอกจากนี้ กรีกยังได้นำเอาเหรียญมาใช้ทำเป็นเงินตราและใช้เป็นเครื่องประดับ ซึ่งอิทธิพลการใช้เหรียญเป็นเครื่องประดับยังคงที่อยู่ในอินเดีย

ราชวงศ์กุษาณะ (Kushans Dynasty) ค.ศ.78-117
            หลังจากราชวงศ์สังกะสิ้นสุดลง พวกศากะซึ่งเป็นเผ่าเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์จากทะเลทรายโกบีถูกพวกฮั่นและมองโกลรุกไล่ลงมาและเข้ารุกรานลงมาจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ อีกพวกหนึ่งคือพวกปารืเธียนก็เข้ามายังอินเดียโดยปราบปรามเข้ามาทางอัฟกานิสถาน พวกหนึ่งลงไปทางใต้ของอินเดียเรียกว่า พวกปัลลวะ ชนเผ่าเร่ร่อนอีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกยู้ชี ซึ่งมีอาชีพเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในภาคกลางของทวีปเอเชียใต้อพยพผ่านแคว้นบัคเตรียมาทางอัฟกานิสถานเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำปัญจาบของอินเดียและได้ขับไล่พวกศากะถอยลงไปทางใต้มีอาณาเขตตั้งแต่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำบาร์บัดทางตอนใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองตักศิลา โดยมีเมืองเปชลาร์เป็นเมืองหลวง ซึ่งได้สถาปนาราชวงศ์กุษาณะขึ้นปกครองอินเดียตั้งแต่ ค.ศ.78-117 กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์นึ้คือ พระเจ้ากนิษกะ (Kanishka) ครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ.78-96
            พระเจ้ากนิษกะได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากในด้านการอุปถัมภ์พุทธศาสนา โดยทรงสนับสนุนพุทธศาสนานิกายมหายานและได้ทรงเผยแพร่พุทธศาสนานิกายมหายานไปในบริเวณภาคเหนือของอินเดียและในต่างประเทศ ทำให้พุทธศาสนานิกายมหายานได้แพร่หลายออกไปในทิเบต จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ทั้งนี้โดยอาศัยเส้นทางการค้าเป็นหลักในการเผยแพร่ นอกจากนี้ทรงให้มีการสร้างสถูปและเจดีย์ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่งดงาม โปรดให้แปลคัมภีร์พุทธศาสนาจากภาษาบาลีเป็นภาษาสันสกฤต พระองค์ทรงตั้งมหาศักราชเมื่อ ค.ศ.78 ทรงทำนุบำรุงเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมีการติดต่อค้าขายกับโรมัน เช่น ได้มีการแลกเปลี่ยนเครื่องเทศ ไหมกับเหรียญกษาปณ์และเหล้าองุ่นกับพวกโรมัน เป็นต้น
            จะเห็นได้ว่าหลังจากราชวงศ์โมริยะสิ้นสุดลง ชาวต่างชาติหลายกลุ่มได้เข้ามารุกรานและปกครองอินเดีย ชาวต่างชาตินั้นมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างจากอินเดีย ทำให้ชาวอินเดียคือพวกอารยันและพวกดราวิเดียนเกิดความกลัวว่า โครงสร้างทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมกลุ่มของตนที่สั่งสมมาจะถูกทำลายโดยชาวต่างชาติเหล่านี้ เป็นเหตุให้ราชวงศ์คุปตะซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวอินเดียพยายามขึ้นมามีอำนาจแทนราชวงศ์กุษาณะ

การพัฒนาอารยธรรมในสมัยคุปตะ
ราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) ค.ศ.320-535
            พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 แห่งแคว้นมคธ ได้สถาปนาพระองค์เป็นผู้ครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำคงคาและสามารถขับไล่พวกกุษาณะออกไป ทรงขยายอาณาจักรออกไปจากแคว้นอัสสัมทางตะวันออกจนถึงที่ราบปัญจาบ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างจักรวรรดิให้ใหญ่เท่าในสมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์คุปตะมีความเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจมากที่สุดในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 หรือทีเรียกกันว่า พระเจ้าวิกรมาทิตย์ (ค.ศ.375-415) สมัยนี้ถือว่าเป็นยุคทองของอารยธรรมอินเดียและลัทธิฮินดูกล่าวคือ อารยธรรมอินเดียมีความเจริญสูงสุดในทุกด้าน เช่น ปรัชญา วรรณคดี ศิลปะ รวมทั้งวิทยาการสาขาต่างๆ ด้วย
            ด้วยการปกครอง ยึดรูปแบบการปกครองสมัยราชวงศ์โมริยะ คือ การส่งข้าหลวงออกไปปกครองตามแคว้นต่างๆ อำนาจของกษัตริย์สูงขึ้น กษัตริย์มีฐานะเป็นสมมติเทพเป็นเทพแห่งพิภพ ดังนั้นกษัตริย์จึงมีอำนาจเด็ดขาด ปกครองในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะต้องการป้องกันอินเดียให้พ้นจากภัยของต่างชาติ ดังนั้น จึงพยายามจัดการปกครองภายในประเทศให้มั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมจะสู้กับศัตรูภายนอก
            ด้านสังคม จากหลักฐานจองชาวต่างชาติที่เข้าไปในอินเดีย เช่น หลวงจีนฟาเหียน ได้เขียนพรรณนาความเจริญของอินเดียในสมัยนี้ว่าพลเมืองร่ำรวยมีความสุข ตามเมืองต่างๆ มีสุขศาลาหลายแห่ง มีการแจกอาหารและยาให้แก่คนจนโดยไม่คิดเงิน ไม่มีคนดื่มสุรายาเสพติด ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ การลงโทษทางอาญาจะไม่ใช้การลงโทษทางกายแต่จะลงโทษโดยการปรับเงินแทน และในระยะนี้ได้ฟื้นฟูอารยธรรมของอฮินดูที่เสื่อมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะขึ้นมาอีกครั้ง สถานะของสตรีในวรรณะสูงยังมีบทบาทอยู่มาก บางคนดำรงตำแหน่งข้าหลวงหรือเป็นหัวหน้าหมู่บ้านแต่พิธีสตีก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่
            ด้านเศรษฐกิจ รายได้สำคัญมาจากภาษีที่ดิน ภาษีท่าเรือ ภาษีจากชนบทและภาษีจาการค้า ดังนั้นในสมัยนี้การค้าเจริญอย่างมากมีการส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชาและไทย
            ด้านวรรณคดี สมัยราชวงศ์คุปตะโดยเฉพาะสมัยพระเจ้าวิกรมาทิตย์นี้ เป็นสมัยทองของวรรณคดีสันสกฤตเพราะได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่รุ่งเรืองแพร่หลายไปทั่ว ทั้งในระดับนักศึกษาและพ่อค้า เป็นภาษาของผู้รู้หนังสือและภาษาที่ใช้ในราชการ
            ผลงานในสมัยนี้มีมากทั้งประเภทร้อยกรองและร้อยแก้ว เช่น งานเขียนทางชีวประวัติ โคลงกลอน งานทางด้านดาราศาสตร์ เลขคณิต วิทยาศาสตร์ พจนานุกรม นิทานและเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนาด้วย กวีที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนี้คือ กาลิทาส เป็นกวีในราชสำนักเขียนทั้งร้อยกรองและบทละคร บทละครที่มีชื่อเสียงคือ เมฆทูตและศกุนตลา และสมัยนี้ยังนิยมเขียนนิทานและนิยายพื้นบ้านเป็นภาษาสันสกฤต ที่มีชื่อเสียงคือ ปัญจะตันตระ นิยายอินเดียแพร่หลายอย่างมากจนนักเขียนชาวยุโรปบางท่านเช่น บอคาชิโอ ซอเซอร์ ลาฟองแตนและกริมส์ได้นำไปเป็นเค้าในงานของตน
            ด้านการศึกษา ได้มีการจัดคั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งของอินเดียจะมีชื่อเสียงเฉพาะทางเช่น มหาวิทยาลัยอุชเชนี มีชื่อเสียงด้านดาราศาสตร์ มหาวิทยัลยอาชนัตตะ มีชื่อเสียงในด้านศิลปกรรม มหาวิทยาลัยพารณสีเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่รวมของวิชาแขนงต่างๆ โดยเฉพาะพุทธศาสนา ปรัชญา ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เกษตรกรรม ฯลฯ มหาวิทยาลัยเหล่านี้บางแห่งถูกทำลายโดยชาวต่างชาติ (พวกอิสลาม) ที่รุกรานอินเดียใน ค.ศ.1197
            นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคือ อารยภตา ศึกษาทางด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ และประดิษฐ์ของหลายอย่างของอินเดียได้เผยแพร่ไปยังอาหรับและอาหรับก็เผยแพร่ไปยังยุโรปอีกทอดหนึ่ง ทางด้านการแพทย์ในสมัยนี้ก็มีความเจริญก้าวหน้า ยาหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในยุโรปเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
            ด้านศาสนาและปรัชญา ได้ฟื้นฟูและอุปถัมภ์ลัทธิฮินดู เพราะพระมหากษัตริย์ทรงมีพระประสงค์ให้อารยธรรมอินเดียมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเน้นอารยธรรมฮินดู นักเขียนชื่อ สังการะ ได้เขียนงานที่เชิดชูลัทธิฮินดูให้เด่นชัดและโจมตีพุทธสาสนาใน ค.ศ.800 โดยได้ทำการปฏิรูปลัทธิฮินดูใหม่ ด้วยการจัดระเบียบสังคมตามแบบพราหมณ์ ขณะเดียวกันก็สอนว่ามนุษย์ไม่ว่าจะกำเนิดในวรรณะใดย่อมบรรลุญาณสูงสุดได้ การปฏิรูปลัทธิฮินดูที่เรียกว่า ฮินดูใหม่ เป็นเหตุให้พุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย
            ด้านศิลปกรรม สิ่งก่อสร้างสมัยคุปตะส่วนใหญ่ได้แก่ โบสถ์ มีการนำศิลปกรรมแบบพุทธมารวมกับฮินดู เป็นศิลปะแบบอินเดีย ซึ่งจะก่อสร้างด้วยไม้และอิฐ มีการสลักหินก้อนใหญ่ให้เป็นถ้ำ เช่น เทวสถานที่เองเอลโลรา นิยมสร้างพระพุทธรูปซึ่งทำได้งดงามมากจนได้ชื่อว่า พระพุทธรูปสมัยคุปตะ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดสมัยหนึ่งของอินเดีย
            ศิลปกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของสมัยคุปตะนี้คือ จิตรกรรมฝาผนัง ภาพวาดในระยะนี้งามลึกซึ้งอ่อนละมุนเป็นความงดงามตามธรรมชาติและแสดงอารมณ์ขัดแย้ง เช่น ภาพฝาผนังถ้ำอาชันตะ เป็นสังฆารามทางพระพุทธศาสนาซึ่งพบทางภาคกลางของอินเดีย เป็นภาพวาดอุดมคติ มีความงามอย่างลึกซึ้ง ภาพชิ้นเอกคือ ภาพธิดาพระยามารและภาพพระโพธิสัตว์ เป็นต้น
            หลังสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 อาณาจักรคุปตะก็เริ่มเสื่อมและสิ้นสุดลงเมื่อ ค.ศ.535 ดดยการอยู่ใต้อำนาจของพวกเร่ร่อนที่รุกรานเข้ามาคือ พวกฮั่น อาณาจักรอินเดียแตกแยกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย ในยุคแห่งความวุ่นวายทางการเมืองนี้ ราชวงศ์ฮินดูอีกราชวงศ์หนึ่งที่พยายามจะรวบรวมแคว้นต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นคือ ราชวงศ์หรรษา

ราชวงศ์หรรษา (Harsha) ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7
            เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์คุปตะ หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องราวของอินเดียเลือนรางมาก อาณาจักรน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมาย และในราวประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 อินเดียทางภาคเหนือถูกยึดครองและรวบรวมเป็นจักรวรรดิอินเดีย กษัตริย์ผู้มีอำนาจคือ พระเจ้าหรรษาวัฒนา ทรงรวบรวมแคว้นต่างๆ ให้เหมือนสมัยคุปตะและขับไล่พวกฮั่นออกไปจากอินเดีย ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนานิกายมหายานควบคู่กับศาสนาฮินดู ในสมัยของพระองค์มีความเจริญทางการปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจและมีสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน จากหลักฐานของหลวงจีนที่ชื่อ ซวนจั๋ง ได้เดินทางมาสืบพุทธศาสนาที่อินเดียและได้บันทึกเรื่องราวราวต่างๆ เอาไว้ ซึ่งบันทึกนี้ได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและยังเป็นหลักฐานที่ใช้เป็นแนวทางในการขุดค้นทางโบราณสถานในสมัยหลังด้วย จากบันทึกดังกล่าวพบว่า พระเจ้าหรรษาวัฒนาทรงมนพระทัยด้านศิลปวรรณคดีมาก แต่หลังจากพระเจ้าหรรษาวัฒนาสิ้นพระชนม์แล้ว อาณาจักรของพระองค์ก็แตกแยกเป็นแคว้นอิสระหลายแคว้นและยังถูกกลุ่มมุสลิมเข้ามารุกราน
            มุสลิมที่เข้ามารุกรานอินเดีย คือ พวกเติร์กและมองโกล ภายใต้การนำของจักรพรรดิบาบูร์ ซึ่งมาจากถิ่นฐานเดิมในแคว้นซามาคาน บริเวณเอเชียกลาง ได้เข้ามารุกรานและมีอิทธิพลในอินเดียตอนเหนือ ซึ่งมีนครเดลีเป็นเมืองหลวงได้อย่างเด็ดขาดใน ค.ศ.1526 หลังจากนั้นก็ตั้งราชวงศ์โมกุลขึ้นปกครองอินเดียและนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ ทำให้อินเดียเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งโครงสร้างทางการเมืองและทางสังคม

ราชวงศ์โมกุล(ค.ศ.1526-1707)
            ราชวงศ์โมกุลเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอินเดีย ก่อนที่ดินเดียจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นพวกที่สืบเชื้อสายมองโกลและนับถือศาสนาอิสลาม จักรพรรดิบาบูร์เป็นผู้สถาปนาจักรวรรดิโมกุลขึ้นและต่อมากลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย มีนครเดลฮี (ปัจจุบันคือ เดลลี) เป็นเมืองหลวง ในสมัยพระเจ้าอัคบาร์ ประมาณ ค.ศ.1566-1605 ได้สร้างความเจริญอย่างมากให้กับอินเดีย พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่ชาญฉลาด เปิดโอกาสให้คนฮินดูเข้ารับราชการเท่าเทียมกับมุสลิมและเสริมเมืองใหม่คือ City of Victory ที่เต็มไปด้วยสุเหร่า พระราชวัง สถานที่สาธารณะ บ้านเรือน ศาสนาทุกศาสนามีอิสระในการเผยแพร่ ต่อมาสมัยพระเจ้าชาห์เจฮัน ทรงเป็นมุสลิมที่เคร่งครัด พระองค์ทรงยกเลิกนโยบายให้เสรีภาพทางศาสนา ในระยะที่ชาวโมกุลปกครองอินเดียได้สร้างความเจริญให้กับอินเดียหลายประการ ได้แก่
            ด้านการปกครอง เป็นการปกครองแบบทหาร คือ ข้าราชการทุกคนต้องเป็นทหารหมด กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในจักรวรรดิ
            สถาปัตยกรรม เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมระหว่างมุสลิมและฮินดู นอกจากนี้ ยังมีศิลปะจากเอเชียกลางเข้ามาปะปน ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ หอคอยที่ผสมระหว่างศิลปะฮินดูและมุสลิม สุสานทัชมาฮาลเป็นสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงมาก สร้างในสมัยพระเจ้าชาห์เจฮัน เพื่อระลึกถึงพระมเหสีของพระองค์คือ พระนางมุมทัชมาฮาล สุสานแห่งนี้ได้จารึกขื่อผู้ก่อสร้างไว้ราว 670 ชื่อ รายชื่อเหล่านี้นอกจากเป็นภาษาฮินดูแล้วยังมีรายชื่อชาวอิหร่านและเอเชียกลาง นอกจากนี้ยังพบสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ดาว ตรีศูล ดอกไม้และรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อสร้างเป็นผู้นับถือศาสนาหลายศาสนา
            จิตรกรรม ในระยะแรกจิตรกรวาดภาพส่วนใหญ่เป็นชาวเปอร์เซีย แต่ต่อมาไม่นานจิตรกรรมส่วนใหญ่จะเป็นชาวฮินดูมากกว่าชาวต่างชาติ แบบของศิลปะจึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างเปอร์เซีย-ฮินดู เรียกว่า ศิลปะแบบโมกุล
            วรรณคดี มีความเจริญอย่างมาก มีการเขียนตำราและแต่งวรรณคดีเป็นภาษาพื้นเมือง ภาษาเกิดใหม่ เรียกว่า ภาษาอูรดู ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างภาษาอาหรับเปอร์เซียและภาษาฮินดู ภาษาที่ใช้ในราชสำนักเปลี่ยนมาเป็นภาษาเปอร์เซียแทน
            ราชวงศ์โมกุลเริ่มเสื่อมลงจากการกดขี่ทางเชื้อชาติและศาสนา เกิดสงครามระหว่างรัฐอยู่บ่อยครั้งทำให้การปกครองอ่อนแอ เศรษฐกิจก็เสื่อมลง สาเหตุต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องบั้นทอดอำนาจของราชวงศ์โมกุล และในช่วงนี้อังกฤษได้เข้ามาติดต่อกับอินเดียและได้อาศัยความอ่อนแอดังกล่าวเข้ายึดอินเดียในที่สุด

            จะเห็นได้ว่าอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความเจริญสืบต่อกันมาโดยไม่ขาดระยะ แม้ว่าจะมีอิทธิพลของชาวต่างชาติที่เข้ามารุกราน แต่ชาวต่างชาติเหล่านั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในอินเดียก็จะรับอารยธรรมอินเดียไปผสมผสานกับอารยธรรมของตนและในที่สุดอารยธรรมอินเดียก็จะดูดกลืนชาวต่างชาติที่เข้าไปรุกรานให้ดำเนินตามแบบอย่างของอารยธรรมอินเดีย

พัฒนาการยุคก่อนประวัติศาสตร์

การเริ่มต้นศึกษาเรื่องราวที่เป็นอดีตของมนุษย์ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้เมื่อประมาณ 2,000,000 ปีล่วงมาแล้วเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากมนุษย์ในช่วงแรกๆ ไม่มีความเจริญพอที่จะขีดเขียนเรื่องราวของตนเองไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา แต่ถึงกระนั้นนักวิชาการก็ได้พยายามศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์ในช่วงแรก โดยการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยงานค้นคว้าจากลายแขนง ได้แก่ วิชาธรณีวิทยา เป็นการศึกษาโดยดูจากหิน ดินในชั้นต่างๆ ของโลก ซึ่งสามารถบอกได้ว่าหลักฐานที่มีการขุดพบนั้นอายุเท่าใด วิชาโบราณคดีเป็นวิชาขุดค้นและศึกษาความเจริญในสมัยต่างๆ ซึ่งความเจริญนี้จะถูกทับถมอยู่ใต้พื้นดิน จากการขุดพบเครื่องมือ เครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะช่วยบอกให้ทราบได้ว่า มนุษย์มีการดำรงชีวิตอยู่ในสมัยใดแต่ละสมัยดำรงชีวิตอย่างไร และวิชามานุษยวิทยาเป็นการศึกษาความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันของสังคมและวัฒนธรรมมนุษย์ในแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้น ทำให้เราทราบว่าในแต่ละช่วงเวลามนุษย์มีความเป็นอยู่ในลักษณะใด
            การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของโลกและของมนุษย์ในอดีตจากข้อมูลในหลายๆ แขนงนี้ทำให้เราสามารถสันนิษฐานได้ว่ามนุษย์มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เริ่มต้นจากสมัยแห่งที่มนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม มีชีวิตเร่ร่อนหาอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ต่อมาเริ่มมีการเรียนรู้การทำภาชนะถ้วยชาม เป็นการก้าวเข้าสู่สมัยที่เริ่มลงหลักปักฐานอยู่กับที่โดยอาศัยอยู่ในกระท่อมที่ก่อสร้างด้วยดินอย่างหยาบๆ ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเริ่มรู้จักการนุ่งห่มร่างกายด้วยหนังสัตว์ ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการสื่อสารด้วยภาษา ด้วยสัญญาณเสียง เริ่มประดิษฐ์ตัวอักษร เริ่มมีบ้านที่เป็นหลักแหล่งมั่นคงและรวมตัวกันเป็นสังคมเมือง ในที่สุดก็สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ ซึ่งพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ที่กล่าวมานี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุคคือ ยุคก่อนการใช้ตัวหนังสือ (Preliterate Age) หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยุคที่เริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้แล้วหรือสมัยประวัติศาสตร์

อารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์
            สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หมายถึง ช่วงเวลาในสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักทำการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือยังไม่มีการจดบันทึกเป็น “ภาษาเขียน” ชนิดที่คนปัจจุบันอ่านหรือสามารถถอดความหมายออกมาได้ สมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ช่วงที่เกิดมนุษย์จนถึงช่วงที่คนเริ่มมีการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆหรือในระยะเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์นั่นเอง

กำเนิดและวิวัฒนาการของมนุษย์
            วิวัฒนาการของมนุษย์ (Human evolution) เป็นกระบวนการวิวัฒนาการที่นำไปสู่การปรากฏขึ้นของ "มนุษย์ปัจจุบัน" (modern human มีนามตามอนุกรมวิธานว่าHomo sapiens หรือ Homo sapiens sapiens) ซึ่งแม้ว่าจริง ๆ แล้วจะเริ่มต้นตั้งแต่บรรพบุรุษแรกของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่บทความนี้ครอบคลุมเพียงแค่ประวัติวิวัฒนาการของสัตว์อันดับวานร (primate) โดยเฉพาะของสกุล โฮโม (Homo) และการปรากฏขึ้นของมนุษย์สปีชีส์ Homo sapiens ที่จัดเป็นสัตว์วงศ์ลิงใหญ่เท่านั้น การศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการมนุษย์นั้นต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายสาขา รวมทั้งมานุษยวิทยาเชิงกายภาพ (หรือ มานุษยวิทยาเชิงชีวภาพ)วานรวิทยาโบราณคดีบรรพชีวินวิทยาพฤติกรรมวิทยาภาษาศาสตร์จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ (evolutionary psychology), คัพภวิทยา และพันธุศาสตร์
            กระบวนการวิวัฒนาการเป็นความเปลี่ยนแปลงของลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) ของกลุ่มสิ่งมีชีวิตผ่านหลายชั่วยุคชีวิต เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความหลายหลากกับสิ่งมีชีวิตในทุกระดับชั้น รวมทั้งระดับสปีชีส์ ระดับสิ่งมีชีวิตแต่ละชีวิต และแม้กระทั่งโครงสร้างระดับโมเลกุลเช่นดีเอ็นเอและโปรตีน สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกสืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันที่มีชีวิตประมาณ 3.8 พันล้านปีก่อน การเกิดสปีชีส์ใหม่ ๆ และการแยกสายพันธุ์ออกจากกันของสิ่งมีชีวิต สามารถอนุมานได้จากลักษณะสืบสายพันธุ์ทางสัณฐานและทางเคมีชีวภาพ หรือโดยลำดับดีเอ็นเอที่มีร่วมกัน คือ ลักษณะสืบสายพันธุ์และลำดับดีเอ็นเอที่มีกำเนิดเดียวกัน จะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างสปีชีส์ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันเร็ว ๆ นี้มากกว่าระหว่างสปีชีส์ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันมานานแล้ว ดังนั้นความคล้ายคลึงกันและความแตกต่างกันจึงสามารถใช้สร้างแบบของต้นไม้สายพันธุ์สิ่งมีชีวิต ที่แสดงความสัมพันธ์เชิงญาติ โดยใช้สิ่งมีชีวิตที่ยังมีอยู่หรือใช้ซากดึกดำบรรพ์เป็นหลักฐานข้อมูล รูปแบบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในโลกเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่ ๆ และการสูญพันธุ์ไปของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่
            งานวิจัยต่าง ๆ ทางพันธุศาสตร์แสดงว่า สัตว์อันดับวานรรวมทั้งมนุษย์แยกออกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่น ๆ เมื่อประมาณ85 ล้านปีก่อน โดยมีซากดึกดำบรรพ์ปรากฏเป็นครั้งแรกสุดเมื่อประมาณ 55 ล้านปีก่อน ส่วนลิงวงศ์ชะนี (Hylobatidae) แยกสายพันธุ์ออกจากสายพันธุ์วงศ์ลิงใหญ่ (Hominidae) รวมทั้งมนุษย์ ซึ่งเป็นวงศ์หนึ่ง ๆ ของสัตว์อันดับวานรนั้น เมื่อ 17 ล้านปีก่อน แล้วลิงวงศ์ Ponginae (ลิงอุรังอุตัง) ก็แยกออกจากสายพันธุ์เมื่อประมาณ 14 ล้านปีก่อน
            จากนั้น การเดินด้วยสองเท้า (bipedalism) ซึ่งเป็นการปรับตัวพื้นฐานที่สุดของสัตว์เผ่า Hominini ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของมนุษย์ที่ลิงชิมแปนซีได้แยกออกไปแล้ว ก็เริ่มปรากฏในสัตว์สองเท้าแรกสุดในสกุล Sahelanthropus (7 ล้านปีก่อน) หรือ Orrorin (6.1 ล้านปีก่อน) โดยมีสกุล Ardipithecus ซึ่งเป็นสัตว์สองเท้าที่มีหลักฐานชัดเจนกว่า ตามมาทีหลัง (5.8 ล้านปีก่อน) ส่วนลิงกอริลลาและลิงชิมแปนซีแยกออกจากสายพันธุ์ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน คือลิงกอริลลาเมื่อ ถึง 10 ล้านปีก่อน และลิงชิมแปนซีเมื่อ ถึง 8 ล้านปีก่อน โดยอาจจะมี Sahelanthropus เป็นบรรพบุรุษสุดท้ายร่วมกันระหว่างชิมแปนซีและมนุษย์ สัตว์สองเท้ายุคเริ่มต้นเหล่านี้ในที่สุดก็วิวัฒนาการมาเป็นเผ่า hominine เผ่าย่อย Australopithecina (australopithecine ปกติรวมสกุลAustralopithecus, Paranthropus, และในบางที่ Ardipithecus) ที่ 4.2 ล้านปีก่อน และหลังจากนั้นจึงเป็นเผ่าย่อย Hominina ซึ่งรวมเอามนุษย์สกุล โฮโม เท่านั้น
            มนุษย์สกุลโฮโมที่มีหลักฐานยืนยันพวกแรกที่สุดเป็นสปีชีส์ Homo habilis ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 2.3 ล้านปีก่อน โดยเชื่อกันว่า สืบสายพันธุ์มาจาก homonin ในสกุล Australopithecus เป็นสปีชีส์แรก ๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าใช้เครื่องมือหิน และการปรับตัวของสายพันธุ์มนุษย์อีกอย่างหนึ่งคือ การขยายขนาดของสมอง (encephalization) ก็ได้เริ่มขึ้นที่มนุษย์ยุคต้นนี้ ซึ่งมีขนาดสมองที่ประมาณ 610 ซม3 คือมีขนาดใหญ่กว่าของลิงชิมแปนซีเล็กน้อย (ระหว่าง 300-500 ซม3) มีนักวิทยาศาสตร์ที่เสนอว่า นี้อยู่ในช่วงเวลาที่ยีนมนุษย์ประเภท SRGAP2 มีจำนวนเป็นสองเท่าเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ  ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาของสมองกลีบหน้าได้รวดเร็วกว่าในสัตว์อื่น ๆ 
            ต่อมา มนุษย์สปีชีส์ Homo erectus/ergaster ก็เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 1.9 ล้านปีก่อน ที่มีปริมาตรกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของลิงชิมแปนซีคือ 850 ซม3 การขยายขนาดของสมองเช่นนี้เทียบเท่ากับมีเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น 125,000 เซลล์ทุกชั่วยุคคน สปีชีส์นี้เชื่อว่าเป็นพวกแรก ๆ ที่สามารถควบคุมไฟ และใช้เครื่องมือหินที่มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เป็นมนุษย์สกุล Homo พวกแรกที่อพยพออกไปตั้งถิ่นฐานทั่วทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป อาจเริ่มตั้งแต่ 1.8 ล้านปีก่อน ดังนั้น การวิวัฒนาการของสายพันธุ์มนุษย์ก่อนหน้านี้ล้วนเป็นไปในแอฟริกาเท่านั้น
            ส่วนกลุ่มมนุษย์โบราณที่เรียกว่า Archaic Homo sapiens ก็เกิดวิวัฒนาการขึ้นต่อมาประมาณ 600,000 ปีก่อน สืบสายพันธุ์มาจาก H. erectus/ergaster เป็นกลุ่มมนุษย์ที่อาจเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบัน โดยเฉพาะคือมนุษย์โบราณ H. heidelbergensis/rhodesiensis หลังจากนั้น มนุษย์ Homo sapiens ที่มีกายวิภาคปัจจุบัน (anatomically modern human) ก็เกิดขึ้นโดยมีวิวัฒนาการมาจากมนุษย์โบราณกลุ่ม Archaic Homo sapiens ในยุคหินเก่าช่วงกลาง คือประมาณ 200,000 ปีก่อน ตามทฤษฎีกำเนิดมนุษย์ปัจจุบันเร็ว ๆ นี้จากแอฟริกา มนุษย์ปัจจุบันมีการวิวัฒนาการในทวีปแอฟริกาแล้วได้อพยพออกจากทวีปประมาณ 50,000-100,000 ปีก่อน (ต่างหากจากมนุษย์ในยุคก่อน ๆ) ไปตั้งถิ่นฐานแทนที่กลุ่มมนุษย์สปีชีส์ H. erectus, H. denisova, H. floresiensis และ H. neanderthalensis ในที่ต่าง ๆ ที่เป็นเชื้อสายของมนุษย์ที่อพยพออกมาจากทวีปแอฟริกาในยุคก่อน ๆ  โดยอาจจะมีการผสมพันธุ์กันกับมนุษย์โบราณก่อน ๆ เหล่านั้น
            หลักฐานโดยดีเอ็นเอในปี ค.ศ. 2010 บอกเป็นนัยว่า มีลำดับดีเอ็นเอหลายส่วนที่มีต้นกำเนิดจากมนุษย์โบราณ Homo neanderthalensis (Neanderthal) ในดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบันทุกเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่คนแอฟริกา และว่า Neanderthal และมนุษย์โบราณสกุลอื่น ๆ เช่นที่รู้จักกันว่า Denisova hominin (Denisovan) รวม ๆ กันแล้ว อาจจะให้จีโนมเป็นส่วน 1-10% ของจีโนมมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งบอกเป็นนัยถึง การผสมพันธุ์กัน ระหว่างมนุษย์โบราณเหล่านี้กับมนุษย์ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การผสมพันธุ์มีระดับค่อนข้างที่จะต่ำ และยังมีความเป็นไปได้ว่า กรรมพันธุ์ของ Neanderthal หรือของ Archaic Homo sapiens อื่น ๆ ที่พบในมนุษย์ปัจจุบันอาจจะอธิบายได้โดยลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) ที่สืบมาจากบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 500,000-800,000 มาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเพราะผสมพันธุ์กันเร็ว ๆ นี้
            ส่วนการเปลี่ยนมามีพฤติกรรมปัจจุบัน พร้อมกับพัฒนาการของวัฒนธรรมสัญลักษณ์ (symbolic culture)  ภาษา และเทคโนโลยีหินแบบเฉพาะงานเริ่มขึ้นที่ประมาณ 50,000 ปีก่อนตามข้อมูลทางมานุษยวิทยา แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนที่เสนอว่า ความจริงเป็นการพัฒนาทางพฤติกรรมอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานยิ่งกว่านั้นที่อาจนานถึง 300,000 ปี และเริ่มมีหลักฐานแล้วว่าพฤติกรรมปัจจุบันนั้น ความจริงมีปรากฏแล้วก่อนหน้านั้น
            ในปัจจุบันนี้ วิวัฒนาการของมนุษย์ปัจจุบันก็ยังเป็นไปอยู่ แต่ที่ปรากฏเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนจะจำกัดอยู่ในเรื่องภูมิต้านทานต่อโรคติดต่อโดยมาก แต่เพราะไร้เหตุกดดันทางการคัดเลือกโดยธรรมชาติ หรือเพราะเหตุอื่น ๆ วิวัฒนาการของมนุษย์เร็ว ๆ นี้ โดยมากก็จะเป็นการเปลี่ยนความถี่ยีนอย่างไม่เจาะจง (genetic drift) นอกจากนั้นแล้ว ยังปรากฏอีกด้วยว่า ทั้งมนุษย์ทั้งวงศ์ลิงใหญ่แอฟริกัน (รวมกอริลลาและชิมแปนซี) ปรากฏการวิวัฒนาการที่ช้าลงจากลิงสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะแต่ละชั่วอายุมีความยาวนานยิ่งขึ้น คำว่า "มนุษย์" ในบริบทของวิวัฒนาการมนุษย์ จะหมายถึงมนุษย์สกุล Homo เท่านั้น

อารยธรรมตะวันตกของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
            มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาศัยการแบ่งตามแนวโบราณคดีได้ดังนี้
            ยุคหินเก่า มีอายุราว 2,000,000 ปีมาแล้ว ยุคนี้มีมนุษย์อยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บผักผลไม้เป็นอาหาร เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธทำจากหินแบบหยาบๆ หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ให้มีคุณภาพดีขึ้นตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม จากการค้นพบตะเกียงรูปร่างเหมือนจากทำด้วยหินเพื่อให้แสงสว่างภายในถ้ำ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการรู้จักใช้ไฟและเครื่องใช้ที่แสงดให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สุดของมนุษย์ยุคหินเก่าตอนปลาย คือ การประดิษฐ์เข็มที่ทำจากกระดูกสัตว์มีที่ร้อยเพื่อใช้เย็บเครื่องนุ่งห่มโดยเป็นฝีมือของมนุษย์โครมันยอง
            การค้นพบกองขี้เถ้ากองใหญ่เป็นการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สมัยนี้รู้จักการใช้ไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ให้แสงสว่าง ให้ความปลอดภัยและใช้ในการหุงต้มอาหาร นอกจากนี้ การค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ในลักษณะต่างๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในสมัยนี้ ได้มีการประกอบพิธีกรรมฝังศพตามความคิดความเชื่อเรื่อง “การฟื้นคืนชีพ” ของมนุษย์สมัยนั้น
            สภาพที่อยู่อาศัยในระยะแรกๆ จะอาศัยอยู่ตามถ้ำและเพิงที่ทำด้วยกิ่งไม้ ใบไม้และสร้างที่พักแบบหยาบๆ ต่อมารู้จักสร้างที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น โดยใช้หินทำผนังบ้าน ซึ่งปรากฏครั้งแรกในแอฟริกาและบางพวกรู้จักสร้างบ้านด้วยดินเหนียว
            ศิลปะที่มีชื่อเสียงในยุคหินเก่าที่เรียกว่า ศิลปะแบบแมกกาเลเนี่ยน คือ ภาพตามผนังถ้ำและภาพแกะสลักบนกระดูก ภาพเล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ ภาพที่เกี่ยวกับความเชื่อ พิธีกรรม การบวงสรวงต่างๆ และภาพเกี่ยวกับสัตว์ เช่น หมี กวาง เป็นต้น โดยผลงานที่มีชื่อเสียง คือ ภาพเขียนบนฝาผนังถ้ำที่ลาสโคส์ ประเทศฝรั่งเศส และภาพวาดบนฝาผนังถ้ำอัลตามิรา ประเทศสเปน
            ยุคหินกลาง เมื่อยุคน้ำแข็งผ่านพ้นไป อากาศเปลี่ยนเป็นอบอุ่นขึ้น ทำให้มนุษย์เริ่มออกจากถ้ำมาตั้งถิ่นฐานภายนอกตามป่าบ้าง ตามทุ่งหญ้าบ้าง มีการสร้างที่พักอาศัยที่แข็งแรงขึ้น ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธยังคงทำจากหิน หากแต่มีความประณีตมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังรู้จักใช้ไม้เพื่อประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น พบด้ามขวาน พบเรือขุดจากไม้ทั้งต้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ และยังพบพายทำด้วยไม่ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น
            มนุษย์ในยุคนี้แม้จะยังไม่มีความก้าวน้าถึงขั้นสามารถควบคุมการผลิตอาหารได้ แต่ก็เริ่มรู้จักการทำเกษตรกรรมแบบง่ายๆ รู้จักการเลี้ยงสัตว์ จากการค้นพบเครื่องมือคล้ายแห ทำให้ทราบได้ว่ามนุษย์รู้จักการทำประมงแบบง่ายๆ และยังรู้จักการประดิษฐ์ภาชนะแบบหยาบๆ ขึ้นใช้ ซึ่งยุคนี้มีระยะเวลาไม่ยาวนานนักก็เริ่มเข้าสู่ยุคหินใหม่
            ยุคหินใหม่ มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตขนาดใหญ่ จากการแสวงหาอาหารตามธรรมชาติมาเป็นการผลิตอาหารได้เอง โดยการทำเกษตรกรรม คือ มีการปลูกข้าว ปลูกผักผลไม้เพื่อไว้บริโภค มนุษย์เริ่มรู้จักเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงสุนัขในสมัยเมโซลิอิค ไว้เพื่อระวังภัยและช่วงการล่าสัตว์ เลี้ยงหมู ม้า แพะ แกะและวัว เพื่อเป็นอาหารและสัตว์ใช้งาน การที่มนุษย์เริ่มมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นี้ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมแหล่งอาหารได้ มนุษย์จึงไม่ต้องเร่ร่อนและเป็นเหตุให้จำนวนประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น ต่อมาเกิดการรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านมีหัวหน้าปกครอง มีการสร้างสถาบันต่างๆ ขึ้นในสังคม
            สภาพที่อยู่อาศัยมีลักษณะถาวรขึ้นแต่ถึงกระนั้นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยยังคงเป็นแบบง่ายๆ ที่ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น ดินเหนียวและไม่ในการก่อสร้าง
            เครื่องมือเครื่องใช้ แม้ว่ายังคงเป็นหินอยู่ แต่มีการขัดหินให้มีความแหลมคมและมีความประณีตมากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย นอกจากนี้ มีการค้นพบเครื่องประดับตกแต่ง เครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีการพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้นและสวยงามขึ้นและจากการพบอนุสาวรีย์หินขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้คำนวณเวลาทางดาราศาสตร์ เพื่อพิธีกรรมบวงสรวงดวงอาทิตย์และเพื่อผลทางการเพาะปลูก นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานสถาปัตยกรรมของมนุษย์
            ยุคโลหะ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักการนำทองแดงมาใช้ประโยชน์โดยนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้แทนหิน การใช้ทองแดงมีอย่างแพร่หลายบริเวณยุโรปตะวันตกเฉียงใต้และขยายไปทั่วยุโรป โดยพบว่าขวานด้ามยาวและขวานถือทำด้วยทองแดงหลายแห่ง เช่น บริเวณไอร์แลนด์ เดนมาร์กและเยอรมันภาคกลางไปจนกระทั่งถึงสแกนดิเนเวีย
            ต่อมาในยุโรปตอนกลางได้เริ่มมีการนำแร่ทองแดงผสมกับดีบุก กลายเป็นโลหะชนิดใหม่ซึ่งเรียกว่า “สำริด” โดยนำสำริดมาผลิตกฤช สร้อยคอ เข็มเย็บผ้า และทำเครื่องประดับต่างๆ การพัฒนาสำริดในช่วงนี้เกิดขึ้นในหลายบริเวณของยุโรปจนถึงสเปน
            กรีกเป็นผู้นำในการถลุงเหล็กมาใช้งานได้เป็นชาติแรก โดยเริ่มมีการใช้เล็กมาหลอมเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ มีวิวัฒนาการของการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ตลอดจนมีการพัฒนาประสิทธิภาพ ในด้านวิถีชีวิตของคนโดยได้เปลี่ยนจากสภาพความเป็นอยู่แบบชุมชนเกษตรกรรมมาเป็นชุมชนเมือง ซึ่งเมืองดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเกษตรกรรม การปกครองและสังคม ความสัมพันธ์ของคนในสังคมเป็นแบบเครือญาติ มีความรักใคร่กลมเกลียวและผูกพันอย่างใกล้ชิด

อารยธรรมตะวันออกของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
            มีพัฒนาการอยู่ลายแห่งและในแต่ละแห่งก็มีระยะเวลาของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
            ยุคหินเก่า เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 500,000-10,000 ปีล่วงมาแล้ว มนุษย์ในยุคนี้มีชีวิตเร่ร่อนไปตามแหล่งอาหารยังไม่รู้จักการตั้งถิ่นฐานที่แน่นอน บางกลุ่มก็อาศัยอยู่ตามถ้ำและใต้หน้าผา มนุษย์ดำรงชีวิตโดยการล่าสัตว์ เก็บพืชผักผลไม้จากป่า มีชีวิตเร่ร่อนไปตามแหล่งอาหาร ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธทำจากหินขัดแบบหยาบๆ จากการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น โครงกระดูกของมนุษย์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง เมื่อ ค.ศ.1927 สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ราว 400,000 ปีก่อนคริสตกาล เรียกมนุษย์ที่ค้นพบนี้ว่า มนุษย์ปักกิ่ง (Peking Man) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวจีนปัจจุบัน เครื่องมือเครื่องใช้ที่ขุดพบมีลักษณะที่ทำมาจากหินหยาบๆ เพื่อใช้ในการล่าสัตว์และหาอาหาร นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยว่าได้มีการเริ่มใช้ไฟด้วย
            นอกจากนี้ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้จำพวกเครื่องมือหินกรวดกะเทาะในประเทศไทย พม่าและลาว และจากการขุดพบชิ้นส่วนของมนุษย์ เช่น มนุษย์ชวาที่ตำบลตรินิลและมนุษย์โซโลที่เมืองงันดอง บริเวณลุ่มแม่น้ำโซโลในเกาะชวาตอนกลาง และมนุษย์วาจกพบที่เมืองวาจกในเกาะชวาตอนใต้ เป็นต้น ซึ่งนักมานุษยวิทยาได้จัดมนุษย์ที่พบว่าเป็นมนุษย์วานร เช่นเดียวกับที่พบในประเทศจีน
            ยุคหินกลาง เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10,000-4,000 ปีมาล่วงมาแล้ว เครื่องเมือเครื่องใช้ยังคงเป็นหิน แต่มีความคมแข็งแรงและมีขนาดเล็กกว่าสมัยหินเก่า อาวุธที่ขุดพบได้แก่ธนูที่ปลายธนูทำด้วยหินที่เหลาให้แหลม มนุษย์ยุคนี้จะอาศัยอยู่ในถ้ำและดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์เก็บของป่าเป็นอาหาร ในบางภูมิภาคของอินเดียเริ่มรู้จักเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์โดยพืชที่ปลูกได้แก่ ข้าว ถั่ว แตงกวา มะเขือ ผักกาด ฯลฯ
            ส่วนร่องรอยความเจริญของวัฒนธรรมมนุษย์ในสมัยหินกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นักโบราณคดีได้แยกออกเป็นวัฒนธรรมแบบต่างๆ ได้ดังนี้
                        วัฒนธรรมฮัวบินห์ พบร่องรอยที่ตำบลฮัวบินห์ใกล้เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยพบเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธที่ทำด้วยหินกรวดแม่น้ำนำมากะเทาะให้เกิดรอยแหลมคม และมีการขัดให้เรียบเพื่อการใช้งานที่ดีขึ้น เป็นการแสดงความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกขั้นหนึ่ง ร่องรอยวัฒนธรรมฮัวบินห์ยังพบได้ที่บริเวณจังวัดกาญจนบุรีและบริเวณภาคเหนือบางแห่งในประเทศไทย และบริเวณใกล้เมืองหลวงพระบางในประเทศลาว เป็นต้น
                        วัฒนธรรมบัคซอน เป็นวัฒนธรรมที่พัฒนามาจากวัฒนธรรมฮัวบินห์ พบในประเทศเวียดนามตอนเหนือ เครื่องมือเครื่องใช้ดป็นขวานสั้น ใช้ก้อนหินผ่าซีกออกแล้วขัดเฉพาะตรงที่คมเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างทำด้วยกระดูกและเปลือกหอย นอกจากนี้ ยังพบเครื่องปั้นดินเผาแบบหยาบๆ พบเมล็ดพืชบางชนิด ทำให้สันนิษฐานได้ว่าได้เริ่มมีการเพาะปลูกพืชกันบ้างแล้ว ร่องรอยของวัฒนธรรมบัคซอน ยังพบอีกในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดกาญจนบุรีของประเทศไทย เป็นต้น
            ยุคหินใหม่ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,000-2,000 ปีล่วงมาแล้ว มนุษย์สมัยนี้รู้จักการเพาะปลูก เช่น พบว่ามีการเพาะปลูกข้าวเจ้าและมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ทำให้มนุษย์เริ่มปักหลักอยู่กับที่ เริ่มมีการสร้างบ้านที่ทำด้วยไม้และไม้ไผ่ มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ทำเป็นลวดลายแบบง่ายๆ บางชิ้นมีการใช้สีเขียนลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีแดง ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ยังคงใช้หิน แต่มีการขัดให้เรียบขึ้นเรียกว่า เครื่องมือหินขัด เช่น ขวานหินขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและขวานพาดบ่าปลายมล ในประเทศไทยชาวบ้านเรียกขวานชนิดนี้ว่า ขวานรามสูรหรือขวานฟ้า โดยเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นเครื่องนำโชคลาภ
            นอกจากนี้ มนุษย์ยุคนี้ยังมีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เชื่อในวิญญาณ ภูตผีปีศาจ เชื่อในพลังที่มีอยู่เหนือธรรมชาติ และพลังที่มีอยู่ในไร่นา เช่น เจ้าแม่โพสพ ทำให้เริ่มมีการเซ่นสรวงบูชา ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพิธีกรรมและธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของสังคมในแต่ละหมู่บ้าน
            พบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยหินใหม่ในหลายแห่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริเวณลุ่มแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลืองของประเทศจีน โดยในประเทศจีนมีแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ตอนปลายที่สำคัญคือ วัฒนธรรมหยังเชา (Yang Shaow) พบที่เมืองหยังเชา มณฑลเฮอหนาน ทางภาคตะวันตกเลยมาทางตะวันออกถึงแมนจูเรียใต้ และวัฒนธรรมหลุงชาน (Lung-Shan) พบที่เมืองหลุงชาน มณฑลซานตุง โดยที่เมืองหยังเชาขุดพบเครื่องปั้นดินเผาหลายชนิดระบายสีดำ ขาว น้ำตาล แดงและเทา มีการแกะสลักรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ม้าลงบนเครื่องปั้นดินเผา พบเครื่องทอผ้าและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำด้วยหิน สันนิษฐานว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเพาะปลูกและพบว่ามนุษย์พวกนี้เริ่มมีการเลี้ยงสัตว์ด้วย ส่วนที่เหมืองหลุงชานพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีขึ้น มีความประณีตขึ้น โดยจะปั้นด้วยแป้นหมุน สีดำ ผิวเรียบ เป็นต้น แต่ไม่พบว่ามีการวาดภาพหรือระบายสีตกแต่ง นอกจากนี้ ยังพบภาชนะ 3 ขา พบกระดูกเสี่ยงทายและพบซากกระดูกสัตว์จำนวนมากที่ใช้ในการบูชายันต์ บริเวณหลุมฝังศพยังพบวัตถุที่ทำด้วยหยก จากหลักฐานต่างๆ ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามนุษย์ในสมัยนั้นรู้จักสร้างบ้านเรือนด้วยดินเหนียว อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านตามชนบทบ้าง ตามเชิงเขาบ้างและใกล้แม่น้ำบ้าง มนุษย์สมัยนี้ในช่วงหลังทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น วัฒนธรรมหลุงชาน นับเป็นวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากและเป็นพื้นฐานของอารยธรรมจีนในสมัยต่อมา
            ยุคโลหะ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2,000-500 ปีล่วงมาแล้ว สมัยนี้ได้เปลี่ยนวัสดุที่ทำเครื่องมือเครื่องใช้จากหินมาเป็นโลหะ แรกๆ ใช้ทองแดง สำริดและเหล็กตามลำดับ แสดงว่ามนุษย์ยุคนี้มีความก้าวหน้าขึ้นกว่ายุคก่อน โดยรู้จักการนำแร่ธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาหลอมเพื่อใช้ประโยชน์ เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ที่ทำด้วยโละ เช่น ขวาน ใบหอก หัวลูกศร เข็มและเครื่องประดับต่างๆ และยังพบว่าในสมัยนี้มีการประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาทั้งแบบเรียบและแบบมีลวดลายที่นิยม คือ ลายเชือกทาบ ลายจักรสานและแบบที่เขียนลายขึ้นเอง ยุคโลหะพบในหลายท้องที่ เช่น ค้นพบเครื่องมือโลหะหลายชนิดที่ทำด้วยทองแดงในบริเวณตอนเหนือของประเทศจีน ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งวัฒนธรรมยุคนี้ออกได้เป็น 2 วัฒนธรรม คือ
                        วัฒนธรรมดองซาน ดองซานเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำซอง ในจังหวัดถั่นหัว ประเทศเวียดนาม สามารถขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ของวัฒนธรรมดองซาน ได้แก่ กลองมโหระทึกทำด้วยสำริด อาวุธที่ทำจากสำริด เช่น ขวาน หอก หัวลูกศร ด้ามมีด มีดสั้น ภาชนะที่ทำจากสำริด เช่น แจกัน พาน หม้อ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับที่ทำด้วยสำริดและหิน
                        วัฒนธรรมหินใหญ่ เป็นวัฒนธรรมที่เด่นชัดมากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นวัฒนธรรมที่นำหินมาก่อสร้าง เช่น โต๊ะหิน โลงหินมีขา หลุมศพก่อด้วยแท่งหินและแผ่นหิน รูปหินจำหลักเป็นรูปนูนต่ำ เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยสำริดหรือเหล็ก ที่น่าสนใจคือ โกศหินหรือไหหิน ที่แขวงเชียงขวางและหินตั้ง แขวงหัวพัน ประเทศลาว สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการทำพิธีฝังศพ เพราะพบเศษกระดูกคนที่เผาแล้วและเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ที่ใช้ในพิธีศพ เช่น ขวานหินขัด ลูกปัดแกล้ว เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับทำด้วยสำริดและเครื่องมือเหล็ก ทั้งหมดบรรจุอยู่ในไหหิน บนผาไหหินมีการแกะสลักลวดลายเป็นรูปคนหรือรูปสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีหลุมดินและมีฝาปิดทำด้วยหินรูปวงกลม ซึ่งสันนิษฐานว่าไหหินก็คือหลุมดินที่มนุษย์ทำขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของโลกบาดาล คือ อีกโลกนึ่งของคนตาย
            รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนรับพุทธศาสนา มนุษย์ได้ใช้หินปักกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์และใช้เป็นเขตกำหนดที่ฝังศพที่ตามคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษของกลุ่มชนต่างๆ ต่อมาเมื่อได้มีการรับพุทธศาสนาเข้ามาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนหินตั้งให้เป็นเสมาหินเพื่อกำหนดขอบเขตพระอุโบสถหรือสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา แสดงให้เห็นว่าเสมาหินที่พัฒนามาจากหินตั้งเป็นวัฒนธรรมโบราณที่มีความเก่าแก่และมีลักษณะพิเศษเป็นของตนเองโดยเฉพาะ”
            อารยธรรมในยุคโลหะไม่ว่าจะเป็นของโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก มักจะเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงมีนักวิชาการบางท่านมองว่า สมัยโลหะเป็นยุคคาบเกี่ยวระหว่างอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์และอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์

อารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์
            สมัยประวัติศาสตร์ หมายถึง สมัยที่มนุษย์รู้จักการคิดค้นประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตัวอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้นี้อาจจะมีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ได้ แต่ตัวอักษรนี้จะต้องสามารถถอดความหมายออกมาได้ การเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนต่างๆ ของโลกเริ่มมีวิวัฒนาการแตกต่างกัน ดังนั้นการเริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้จึงเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ทำให้การสิ้นสุดของสมัยประวัติศาสตร์และการเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนต่างๆ ของโลก จึงแตกต่างกันตามไปด้วย เช่น อียิปต์สามารถคิดประดิษฐ์อักษรภาพขึ้น กรีกสามารถประดิษฐ์ตัวเลขขึ้นใช้ เป็นต้น
            หลังยุคหินใหม่ มนุษย์ได้ค้นพบการใช้โลหะเพื่อผลิตเครื่องมือเครื่องใช้แทนหิน โลหะชนิดแรกที่มนุษย์นำมาผลิตคือ ทองแดง โดยจะใช้ทำเครื่องใช้ขนาดเล็ก เช่น เข็ม เครื่องประดับประเภทลูกปัด ต่อมาเริ่มมีการนำทองแดงมาผสมกับดีบุก กลายเป็นสำริดที่เริ่มนอยมใช้กันอย่างกว้างขวาง
            ในช่วงเวลาที่มีการใช้โละโดยเฉพาะทองแดงและสำริด ในบางท้องที่สันนิษฐานว่าได้มีการค้นพบตัวอักษรขึ้นใช้แล้ว และได้มีการขีดเขียนเรื่องราวบางอย่างไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การค้นพบวิธีการเขียนตัวอักษรยังช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการปกครอง โดยจะช่วยให้กิจกรรมทางธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังช่วยในการจัดระเบียบ การสั่งงานและการควบคุมคนอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นยังช่วยให้มีการจดบันทึกเรื่องราวไว้เป็นมรดกตกทอด และเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างเสริมอารยธรรมของคนรุ่นต่อมา
            มนุษย์เมื่อมีการค้นพบตัวอักษรและมีการจดบันทึกเรื่องราวลงไว้เป็นหลักฐาน ทำให้การศึกษาเรื่องของมนุษย์ในแต่ละสมัยกระจ่างชัดและมีความแน่นอนมากขึ้น ไม่ต้องอาศัยการสันนิษฐานจากวัตถุหลายอย่างเหมือนกับการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์สมัยที่ยังไม่รู้จักการเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นการนำมนุษย์เข้าสู่สมัยที่เรียกว่า สมัยประวัติศาสตร์
            สมัยประวัติศาสตร์ของโลกเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง หมู่บ้านกสิกรรมได้ขยายตัวกลายสภาพมาเป็นเมือง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร เป็นศูนย์กลางการปกครองและสังคม คนที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่ได้ประกอบอาชีพกสิกรรมเพียงอย่างเดียวแต่มีการประกอบอาชีพทั้งเป็นช่างหัตถกรรมและอื่นๆ
            สมัยประวัติศาสตร์ยังเป็นสมัยที่สามารถแบ่งยอยออกไปได้อีกหลายสมัยด้วยกัน ได้แก่
            อารยธรรมสมัยโบราณ เริ่มต้นเมื่อมนุษย์มีการรวมตัวกันตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน มีการประดิษฐ์ตัวอักษร ซึ่งทำให้เกิดการสร้างสรรค์อารยธรรมขึ้นมา โดยอารยธรรมโบราณต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้มักเกิดขึ้นตามลุ่มแม่น้ำสายต่างๆ ของโลกหลายแห่ง เช่น แม่น้ำไนล์ แม่น้ำไทกิรสยูเฟรติส แม่น้ำสินธุและแม่น้ำฮวงโห เป็นต้น
            อารยธรรมสมัยกลาง เริ่มตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 เป็นช่วงที่อาณาจักรโรมันเกิดขึ้นในยุคโบราณถูกพวกอนารยชนเผ่าเยอรมันบุกทำลาย ทวีปยุโรปเริ่มใช้ระบบการปกครองแบบศักดินาสวามิภักดิ์หรือฟิวดัล และยังเป็นช่วงเวลาที่ศาสนจักรมีอำนาจอย่างมากในยุโรปอีกด้วย
            อารยธรรมสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในสมัยเรอเนสซองซ์ มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นยุคที่ยุโรปมีความเจริญทางด้านศิลปกรรมมาก ซึ่งเป็นต้นแบบของศิลปกรรมในสมัยต่อมาด้วย ในสมัยนี้ทวีปยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น มีการปฏิรูปศาสนา การปฏิวัติเกษตรกรรม การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่นำยุโรปเข้าสู่ลัทธิจักรวรรดินิยมและก่อให้เกิดสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งในเวลาต่อมา

            อารยธรรมสมัยปัจจุบัน เรื่มตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันสมัยนี้เป็นสมัยที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก จึงเรียกยุคนี้ว่า ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศหรือยุคไอที (IT : Information Technology) หรือยุคโลกาภิวัตน์